เจาะผล PISA ปี 2015 เด็กยากจนติดอันดับท็อปของโลก

เมื่อมีการประกาศผลสอบ PISA (Program for International Student Assessment) ผู้คนมักให้ความสำคัญกับเรื่องของลำดับและคะแนนการประเมินผลด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน กระนั้น จากการวิเคราะห์คะแนน PISA โดย OECD มีเกณฑ์ชี้วัดตัวหนึ่งเรียกว่า Resilient Student เป็นกลุ่มของเด็กที่สามารถเอาชนะโชคชะตาของตนเองได้ คือแม้จะอยู่ในกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมยากจนที่สุด 25% ของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบได้สูงที่สุดในกลุ่ม 25% สูงสุดของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเด็กกลุ่ม “ช้างเผือก”

ไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก 18.4%

“ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” นักวิจัยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข้อมูลว่า จากการสอบ PISA ปี 2015 ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือกราว 3.33% โดย OECD ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า หากเยาวชนกลุ่มที่ยากจนที่สุด 25% นี้มีสถานะทางเศรษฐกิจเทียบเท่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของนักเรียนที่เข้าสอบจากทั่วโลกแล้ว จะทำให้ไทยมีจำนวนเด็กกลุ่มช้างเผือกเพิ่มขึ้นเป็น 30,300 คน หรือคิดเป็น 18.4%

เด็กกลุ่มนี้มีทักษะการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Thinking) มากกว่านักเรียนที่อยู่ในกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจเดียวกันถึง 3 ปีครึ่ง และสูงกว่านักเรียนกลุ่มที่มีระดับเศรษฐฐานะ (ระดับการศึกษา-อาชีพของพ่อแม่, การเข้าถึงทรัพยากรด้านต่าง ๆ) สูงสุดร้อยละ 25% ของประเทศหรือกลุ่มยูนิคอร์นมากกว่า 1 ปีการศึกษา

เมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน กลับพบว่ามีเด็กช้างเผือกสูงถึง 75.5% ส่วนมาเลเซียและอินโดนีเซียมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.5% และ 10.9% ตามลำดับ โดยประเทศที่มีเด็กกลุ่มช้างเผือกมากจะสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีมาก เพราะแม้แต่เด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสก็ยังสามารถทำคะแนนได้ดีในระดับ Top 25% ของโลกได้

“ดร.ภูมิศรัณย์” บอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กกลุ่มช้างเผือกมีความคาดหวังกับอาชีพของตัวเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อันเป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งสภาพเศรษฐฐานะที่ยากจน ขาดแคลนแรงบันดาลใจ และต้นแบบในด้านอาชีพ ทัศนคติของครอบครัวผู้ปกครองที่ขาดความรู้และความเข้าใจในศักยภาพของลูกหลาน ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสศึกษาต่อ หรือไม่ได้ศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่มีความถนัดและต้องการ อีกทั้งเด็กบางส่วนจบ ม.3 ก็ออกสู่ตลาดแรงงานกลายเป็นผู้ใช้แรงงานด้อยทักษะ

“ครูเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดเด็กช้างเผือก โดยมีคุณสมบัติแตกต่างจากครูกลุ่มอื่น ๆ อย่างการสอนแบบให้เด็กมีส่วนร่วม มีการให้ฟีดแบ็กทั้งคำชมเชย ชี้ข้อบกพร่องให้แก้ไข พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เด็กพัฒนาตนเอง ที่สำคัญครูมี Growth Mindset ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ยอมให้นักเรียนเกิดความล้มเหลว และพาเด็กก้าวข้ามอุปสรรคทางเศรษฐฐานะได้”

แนะปลดล็อก Bottom 40%

“ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. ให้ข้อเสนอแนะว่า การจะค้นหาเด็กกลุ่มช้างเผือกต้องมาจากการจัดทำระบบแนะแนวที่ดีในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจในการเลือกเรียนต่อ และการประกอบอาชีพในอนาคต อันเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะโชคชะตาได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีปัญหาด้านการศึกษาของไทยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดซึ่งมีมากกว่า 28 ล้านคน คิดเป็น 40% ของประเทศ (Bottom 40%)

“หากภาครัฐสามารถค้นพบและพัฒนากลุ่มเด็กช้างเผือกได้ รวมถึงส่งเสริมปัจจัยบวกทางการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มเด็กยากจนอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ก็จะช่วยลดจำนวนเด็กกลุ่มผลการเรียนอ่อนหรือมีทักษะด้อยมาตรฐาน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยต้องปลดล็อกกลุ่ม Bottom 40% กล่าวคือ ต้องเปิดโอกาสให้คนไทยทุกช่วงรายได้และทุกพื้นที่มีโอกาสทางการศึกษาในการพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะขั้นสูง ทั้งการศึกษาสายอาชีพ และสายอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ”

“ในช่วง 5 ปีแรกภาครัฐต้องปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนยากจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 เป็นอีกมาตรการที่สามารถเข้ามาช่วยยกระดับศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นการติดกระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูกต้อง แทนที่จะไปดูแลเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูง หลังจากนั้น 5 ปีต่อไปต้องให้กลุ่ม Bottom 40% ก้าวไปสู่ระดับการศึกษาที่ดีและถึงขีดสุดทางศักยภาพของเขา เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ”

รัฐต้องเพิ่มงบฯวิจัยและพัฒนา

“ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ ธนาคารโลก ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ค่าคะแนน PISA ของเด็กเพิ่มขึ้นมา 100 คะแนน จะเทียบเท่ากับ 1 Standard Deviation ของผลคะแนน PISA ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 1.8 ต่อปี โดย 15 ปีที่มีการทดสอบ PISA ไทยมีคะแนนเฉลี่ยประมาณ 400 คะแนนมาตลอด และความสามารถของเด็กไทยห่างจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและเอเชีย-แปซิฟิกเกือบ 3 ปีการศึกษา โดยมีเด็กไทยเกินครึ่งที่มีความสามารถต่ำกว่าระดับมาตรฐาน และมีเด็กไทยที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูงของ PISA เพียง 1%

นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่าประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะมีคนไปทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาได้นั้นต้องมีคนที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูง จำนวน 7,000-8,000 คนต่อ 1 ล้านคน แต่ประเทศไทยกลับมีเพียง 1,000 คนต่อ 1 ล้านคน


“แม้รัฐบาลออกโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยให้ไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง อย่างการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industry) การสนับสนุนทุนสตาร์ตอัพ ยกเว้นภาษีลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมรวมถึงมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC แต่ปัญหาคือเกิดคอขวดซึ่งเราไม่มีคนที่เป็นครีมของประเทศมากพอ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ทางออกคือรัฐต้องเพิ่มงบฯลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้าง Ecosystem ของนวัตกรรมให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย”