ไอแบงก์จีบทุนมุสลิมไทย-มาเลย์ จุดขายคลีนแบงก์เร่งปิดดีล/ปีนี้พลิกกำไร

“ไอแบงก์” โอนหนี้เน่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ให้ IAM เรียบร้อย ลั่นเป็น “คลีนแบงก์” ตั้งแต่ 30 มิ.ย. 60 เป็นต้นไป ลุยเจรจาพันธมิตร 2 ราย “กลุ่มทุนมุสลิมไทย-แบงก์มาเลย์” เร่งปิดดีล หวังปีนี้พลิกมีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท เงินกองทุนบวก 1.47%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้มีการลงนามโอนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) กว่า 5 หมื่นล้านบาท ตามมูลค่าตามบัญชีสุทธิ (Net Book Value) กว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้กับทางบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ ต้องเร่งเจรจากับนักลงทุนที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน

สำหรับการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในไอแบงก์ ขณะนี้ได้มีกลุ่มทุนที่อยู่ระหว่างเจรจากับทางแบงก์ 2 ราย ซึ่งเป็นต่างชาติ 1 ราย และอีกรายเป็นนักลงทุนในประเทศ ถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้กำหนดไว้ว่า ไอแบงก์จะต้องมีความคืบหน้าเรื่องพันธมิตรที่จะมาร่วมทุนภายใน มิ.ย.นี้

“ขณะนี้กระบวนการเรื่องการโอนหนี้ระหว่างไอแบงก์กับ IAM ก็เดินหน้าไปตามแผนทุกอย่างแล้ว จะเหลือในส่วนไอแบงก์ที่ต้องทำเรื่องพันธมิตรให้มีความชัดเจน โดยกุญแจสำคัญคือ ต้องหาคนเก่ง รู้เรื่องอิสลามิกไฟแนนซ์ นี่คือเป้าหมายหลักเลย ซึ่งตอนนี้ก็ให้เร่งกระบวนการเจรจาอยู่” นายเอกนิติกล่าว

ทั้งนี้ เงื่อนไขการเจรจาจะเปิดกว้างเรื่องสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นจะขึ้นกับการต่อรองกัน แต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องการมีบทบาทบริหารแบงก์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า นักลงทุนที่เข้ามาเป็นใครบ้าง เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ดูเงื่อนไขต่าง ๆ” นายเอกนิติกล่าว

แหล่งข่าวจากไอแบงก์กล่าวว่า ไอแบงก์กับ IAM ได้ลงนามโอนหนี้ NPF กันเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2560 เป็นต้นไป ถือว่าไอแบงก์เป็นคลีนแบงก์ โดยต้องเดินหน้าหาพันธมิตร พร้อมกับดำเนินธุรกิจไปให้ได้ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งจะต้องขยายสินเชื่อให้ได้ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 นี้ และลดค่าใช้จ่าย โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 5% การลดหนี้ NPF ที่อยู่ราว 3,600 ล้านบาท เพื่อให้มีสัดส่วนไม่เกิน 6% ของสินเชื่อรวม และต้องมีการใช้ทรัพยากรร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐอื่น ๆ

ขณะที่การเพิ่มทุน 18,100 ล้านบาทนั้น จะต้องรอแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้เรียบร้อย เพื่อเปิดทางให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้เกิน 49% ซึ่งขณะนี้รอเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าจะผ่าน 3 วาระรวด เนื่องจากแก้ไขแค่มาตราเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางไอแบงก์จะต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องพันธมิตรด้วย ทางกระทรวงการคลังจึงจะเพิ่มทุน 18,100 ล้านบาท ให้ตามแผน

“ถ้ามีการเพิ่มทุน 18,100 ล้านบาท ตามแผนที่ได้รับอนุมัติ และมีการปรับโครงสร้างทางการเงินและปรับโครงสร้างธุรกิจได้ตามแผนแล้ว ก็น่าจะทำให้ไอแบงก์กลับมามีกำไรสุทธิได้ 5 ล้านบาท ในปี 2560 นี้ และมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio เป็นบวกที่ 1.47%” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการเจรจากับนักลงทุน 2 รายในขณะนี้ รายแรกเป็นกลุ่มนักลงทุนมุสลิมในประเทศไทย และกลุ่มที่ 2 เป็นแบงก์จากประเทศมาเลเซีย