เมนูความรู้ ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา


อาหาร คือ หนึ่งในปัจจัยจำเป็นในการดำเนินชีวิตของคนเรา ธุรกิจอาหารจึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านคุ้นเคยและใกล้ตัว ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริโภค ผู้ทำงานในอุตสาหกรรมอาหาร หรือผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ธุรกิจนี้จึงมีความสำคัญและมีมูลค่ามาก รวมทั้งสร้างการจ้างงานมากมาย

ซึ่งผมได้มีโอกาสนำผู้ประกอบการ SMEs ไทยเดินทางไปดูงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว และการที่ธนาคารกรุงศรีเป็นหนึ่งในเครือ MUFG ประเทศญี่ปุ่น จึงได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทริปดูงานในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ Krungsri Business Empowerment ที่มุ่งให้ข้อมูล ความรู้ และเครือข่ายธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs นำไปต่อยอดให้กับธุรกิจ

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เราทราบกันดีว่า อาหารญี่ปุ่นนั้นโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบแพ็กเกจกิ้ง นวัตกรรมเกี่ยวกับอาหาร และที่สำคัญ คือ คุณภาพและความปลอดภัย โดยมีบริษัทอาหารของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมากมาย เช่น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บริษัท คิริน ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ และยังมี FOODEX Japan ที่เป็นงานจัดแสดงประจำปีด้านอาหารและเครื่องดื่มอันดับ 1 ในเอเชีย ซึ่งที่กล่าวมา กรุงศรีก็ได้พาผู้ประกอบการไทยไปเยี่ยมชมเช่นกัน 

จากการที่ได้ไปดูงานมา ผมมีเกร็ดเล็กน้อยมาฝากกันดังนี้ครับ งาน FOODEX นั้น ผมแนะนำอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการไทยควรไปชมกันนะครับ เพราะไม่ได้มีแต่อาหารญี่ปุ่นเท่านั้น มาจากทั่วโลกกันเลยทีเดียว รวมทั้งมีพื้นที่แสดงสินค้าของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เวทีนี้ในการเปิดตลาดไปสู่ทั่วโลกได้ และได้เห็นความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมด้านอาหารจากทั่วโลก ซึ่งงานนี้จัดมาเป็นปีที่ 44 โดยจัดเป็นเวลา 4 วัน ในช่วงเดือนมีนาคม กว่า 3,500 บริษัท จากกว่า 90 ประเทศ มาออกบูท ผู้เยี่ยมชมกว่า 80,000 คน และเท่าที่ได้เดินดู ผมประทับใจกับเทคโนโลยี freeze dried ที่สามารถทำให้ข้าวหน้าหมูทั้งชาม ลดขนาดโดยอัดแห้งเท่าสบู่ก้อนเล็ก แล้วเพียงเติมน้ำร้อนก็จะขยายตัวเต็มชามพร้อมทาน แถมยังคงรสชาติได้อีกด้วย

และการเยี่ยมชมโรงงานต่าง ๆ ในทริปนี้ เห็นได้ว่านอกจากการใช้ระบบ automated machine ซึ่งเน้นการผลิตแบบใช้แรงงานน้อยที่สุดแล้ว เขายังให้ความสำคัญมากในเรื่องความสะอาดในขบวนการผลิต โดยมองว่าไม่เพียงแค่สินค้าที่ถึงมือลูกค้าเท่านั้น แต่รวมถึงแหล่งผลิตต้องสะอาดและดูดีด้วย บางผู้ผลิตถึงกับมีการเปิดโรงงานให้ผู้บริโภคได้เยี่ยมชม ซึ่งช่วยเป็นสื่อประชาสัมพันธ์สินค้าได้ในอีกทางเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยที่ผมพาไปเยี่ยมชมต่างประทับใจและบอกว่า สุดยอดแห่งความสะอาดจริง ๆ โดยมีการออกแบบโรงงานที่ตามมุมพื้นต่าง ๆ จะถูกปรับเป็นมุมโค้งมน แทนที่จะเป็นเหลี่ยมมุม ทำให้ไม่เก็บฝุ่นและให้ง่ายต่อการทำความสะอาดได้มากกว่า ตลอดจนขบวนการต่าง ๆ ที่ต้องบอกว่า สะอาดตั้งแต่โรงงาน เครื่องจักร ยันถึงสินค้าสู่มือผู้บริโภค

สำหรับช่องทางในการขายสินค้าอาหารนั้น นอกจากร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังมีร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันก็มีมากมายในประเทศญี่ปุ่น และเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีกว่า 55,000 ร้าน จาก 7 บริษัท ซึ่ง Top 3 ก็มีชื่อที่เรารู้จักดี ได้แก่ เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน ช่องทางนี้ได้เปรียบด้านความสะดวกในหลายเรื่อง เช่น ทำเลที่ตั้ง เวลาให้บริการ ความหลากหลายของราคา และรูปแบบอาหาร โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตมากและมีอนาคตสดใส อันเนื่องมาจากความสะดวกท่ามกลางสังคมเร่งรีบ ทั้งยังอร่อยและราคาไม่แพงมาก และการที่ญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีความต้องการอาหารพร้อมทาน ซึ่งแนวโน้มนี้คงเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต จากที่ทราบกันว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของไทยควรเริ่มศึกษาโอกาสธุรกิจอาหารพร้อมทานดูนะครับ

นอกเหนือจากช่องทางที่กล่าวมา ตอนนี้ทางญี่ปุ่นกำลังศึกษาเกี่ยวกับการขนส่งอาหารพร้อมทานโดยใช้โดรนที่จะไปส่งอาหารได้ผ่านหน้าต่างบ้าน หรืออาคารตึกสูง ให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือ และการใช้รถแบบไม่มีคนขับเร่ขายอาหารพร้อมทานที่เข้าถึงแหล่งชุมชนต่าง ๆ ได้ง่าย ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและพื้นที่หน้าร้านขายที่เป็นต้นทุนที่สูง


ถึงตอนนั้นคงต้องบอกว่า อุตสาหกรรมอาหารอาจก้าวเข้าสู่การ disruption แล้ว บ้านเราก็ต้องเตรียมความพร้อมกันไว้บ้างนะครับ