ซื้อวนไปครับ

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง บล.ไทยพาณิชย์ ออกรายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไตรมาส 3 ซึ่งมีการศึกษาภาวะตลาดหุ้นบ้านเราเทียบกับเพื่อนบ้านและเทียบกับตลาดหุ้นบ้านเราเองในอดีต ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจ ขอถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในเดือนนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนในไตรมาส 3 และครึ่งปีหลังนี้นะครับ โดยมีประเด็นน่าสนใจดังนี้

เราจะผ่าน 1,600 จุดไปได้หรือไม่ หลังจากแวะมาตื้อ ๆ อยู่แถว 1,600 จุดเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี ซึ่งแม้คำตอบทางเทคนิคจะบอกว่า มีความเสี่ยงสูง และอาจผ่านไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นรูปแบบลักษณะ double top หรือ triple top คือมาถึงแนวต้านทั้งในแง่จิตวิทยา (เลขกลม ๆ 1,600 จุด) และในแง่ของจุดสูงสุดในอดีตถึงสองครั้ง (2013 และ 2015) ที่เรามาถึงแล้วก็ไม่ผ่าน แต่คำตอบทางปัจจัยพื้นฐานกลับบอกว่า มีโอกาสไม่น้อยที่จะผ่านไปได้ หากมองในแง่ของ P/E ratio เทียบกับ 2 ครั้งในอดีต กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่สูงขึ้นขึ้นทำให้ Forward PE ล่าสุดอยู่ที่ราว 14.5 เท่า (ใกล้เคียงกับตอนปี 2013) แต่ต่ำกว่าปี 2015 ซึ่งอยู่ที่ 15 เท่า กว่า ๆ และหากมองในแง่อัตราผลตอบแทน earnings yield (E/P ratio) เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (risk free rate) ซึ่งล่าสุด 10-year bond อยู่ที่ราว 2.5% ตลาดหุ้นก็ให้ earnings yield สูงกว่า bond ราว 4.3% สูงกว่าทั้งสองครั้งในอดีต (ยิ่งสูงแปลว่าหุ้นมีความน่าสนใจมากกว่า bond มากขึ้นโดยเปรียบเทียบ) ขณะที่ความเสี่ยงต่าง ๆ ก็ดูไม่น่ากังวลเหมือนช่วงที่ผ่านมา ทั้งเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มดี ผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสที่ออกมายัง Pro-EU การเจรจา Brexit ก็ดำเนินไปแบบไม่กระทบตลาด ส่วนความกังวลสงครามต่าง ๆ ก็ดูจะแผ่วลง (แม้จะยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด) เหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ ในประเทศก็ผ่านพ้นไป และกำลังจะเข้าใกล้เวลาเลือกตั้ง (ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ) เข้าไปเรื่อย ๆ

ต่างชาติยังคงให้ความสนใจกับหุ้นไทย หลังจากตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนต่างชาติมาตลอด 3 ปี ในปี 2013-2015 (เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างอ่อนแอในช่วงนั้น) แต่ในช่วง 12 เดือนล่าสุด การไหลเข้าสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ (foreign net buy) โดยรวมกลับมาอยู่ในระดับช่วงก่อนปี 2013 แล้ว นอกจากนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่า activity ทั้งซื้อกับขายรวมกัน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 18% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนซึ่งมีมูลค่ารวมซื้อขายอยู่ที่ราว 2.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นภาพที่สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ที่มีมูลค่าซื้อและขายรวมกันอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนหน้าราว -15% ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่า หุ้นไทยแม้จะไม่ไปไหน แต่ก็เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนพอสมควร

ซื้อวนไปครับ การหมุนเวียนเปลี่ยนตัวเล่นยังคงเป็น theme หลัก โดยหากดูจากความสัมพันธ์หรือ correlation ระหว่างการเคลื่อนไหวของดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในตลาดหุ้นบ้านเรา เทียบกับ SET index โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นลักษณะของการเปลี่ยนกลุ่มเล่น วนไป ซึ่งภาพดังกล่าวมักเป็นภาพที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นบ้านเราเวลาปรับตัวขึ้น (ต่างจากในช่วงตลาดขาลงที่มักลงพร้อมกันทุก sector ซึ่งจะมี correlation สูงคือไปทางเดียวกันหมด การลงจะแรง ลงเร็ว หลายคนอาจเรียกว่า “ขึ้นแบบขึ้นบันได แต่ลงแบบลงลิฟต์” ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงตลาดขาขึ้น หุ้นบ้านเรามักมีการหมุนเวียนเปลี่ยนตัวเล่นไปเรื่อย ๆ และหากขึ้นแรงและต่อเนื่องนาน ๆ เกิน 8-12 เดือนขึ้นไปก็มักจะมีโอกาส correction ปรับตัวลงครั้งใหญ่ตามมา แต่เมื่อดูสภาพตลาดหุ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่า เป็น sideway ขึ้นช้า ๆ มาเกือบจะหนึ่งปีแล้ว จึงยังไม่มีภาพที่น่ากลัวว่าจะเกิดการ correction แรง ๆ ตามมา ประกอบกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงมองการเคลื่อนไหวของตลาดในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นลักษณะปรับตัวขึ้น (sideway up) โดยอาศัยการหมุนเวียนเปลี่ยนตัวเล่น (sector and stock rotation)

กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3 นี้เราจึงแนะนำหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ราคาถูกทิ้งให้ล้าหลังในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา โดยจากการดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และความถูก-แพง (P/E ratio) พบว่ามี sector ที่เริ่มน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล ที่มี P/E ratio ปรับลดลงมาค่อนข้างมาก ทั้งเมื่อเทียบกับอดีตของ sector และเทียบตลาด โดยปัจจัยระยะยาวอย่างสังคมสูงวัย การปรับตัวขึ้นของค่ารักษาพยาบาลต่อ GDP ยังมีที่ว่างให้เติบโตอีกมาก (เราเลือก BDMS CHG เป็น top-pick) ส่วนกลุ่มพลังงานก็ถูกราคาน้ำมันที่ชะลอลงกดดันอยู่ ซึ่งเรามองว่าราคาน้ำมันที่ต่ำประกอบกับความต้องการน้ำมันรถยนต์ในสหรัฐและจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้กลุ่มโรงกลั่นและธุรกิจที่มี downstream ยังคงมีความน่าสนใจ (IRPC, PTT) สุดท้ายเราเลือก electronic ซึ่งแม้หุ้นบางตัวจะทำผลตอบแทนได้ดีไปช่วงก่อนหน้าแต่ก็มีบางตัวที่ยังคงล้าหลัง ซึ่งเรามองภาพ demand ยังคงเติบโตตามเศรษฐกิจโลกและ trend การใช้อุปกรณ์ electronic ในกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้น

ส่วนปัญหาที่นักลงทุนกังวล เช่น ราคาทองแดงกำลังมีแนวโน้มคลี่คลาย โดยเราเลือก KCE SVI เป็น top-pick สำหรับไตรมาส 3 และอาจดีต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีนี้