ไตรมาส 4 แบงก์เข็นแอป อนุมัติบัตรเครดิต-พีโลน

จับตาโค้งไตรมาส 4 แบงก์พาเหรดออกฟีเจอร์ใหม่ “ขอสินเชื่อ” ผ่านแอป นำร่อง”บัตรเครดิต-พีโลน” ค่ายกรุงศรีดีเดย์ปลาย ก.ค. ฝั่ง ทีเอ็มบีคาดสิ้นปีเปิดบริการบนแอปทัช ฟาก “CIMBT-SCB” เร่งศึกษาการเชื่อมโยงระบบหลังบ้าน รองรับการขอสินเชื่อผ่านแอป

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ธนาคารจะเปิดฟีเจอร์ใหม่บนโมบายแบงกิ้ง ให้ลูกค้าขอสินเชื่อประเภทไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และแบงก์สามารถพิจารณาอนุมัติในเบื้องต้นให้ทันที

“ขั้นตอนการขออนุมัติผ่านออนไลน์ยังทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะยังติดเรื่องว่าธนาคารต้องมีใบสมัครขอสินเชื่อฉบับจริงที่มีลายเซ็นของผู้กู้ ในขณะที่เอกสารหลักฐาน สำเนาต่าง ๆ จะสามารถส่งทางอีเมล์เข้ามาได้ ดังนั้นเมื่อลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อในเบื้องต้นแล้ว เราก็อาจจะไปรับใบสมัครตัวจริงมาเพิ่ม พอเอกสารทั้งหมดครบ เราก็จะอนุมัติสินเชื่อและธนาคารจะโอนเงินให้ได้ อย่างไรก็ตามบริการขอสินเชื่อผ่านแอปจะเปิดให้ลูกค้าเก่าใช้ก่อน เพราะเคยทำ KYC (การระบุตัวตนของลูกค้า) กับธนาคารแล้ว ส่วนลูกค้าใหม่น่าจะใช้ฟีเจอร์ได้ต้นปีหน้า หลังจากกระบวนการทำ e-KYC ผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำอยู่” นายฐากรกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3-4 น่าจะมีความเคลื่อนไหว e-KYC (Electronic-Know Your Customers) โดยตอนนี้ธนาคารได้มีการส่งคำขออนุญาตไปที่ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถระบุตัวตนในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่ง e-KYC นี้จะปรับใช้ได้กับทุกบริการของธนาคาร เช่นสินเชื่อมีหลักประกัน สินเชื่อไม่มีหลักประกัน การเปิดบัญชี ฯลฯ

นางสาวมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ส่งเสริมการตลาดลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ ทางธนาคารจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชั่น “ทัช” ได้แก่ การขอสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยให้สามารถอนุมัติประเภทสินเชื่อได้ตรงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงให้บริการได้เฉพาะฐานลูกค้าเดิม เพราะลูกค้ายังต้องมายืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารอยู่

“นอกจากนี้เราจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ให้ครอบคลุมเกี่ยวกับการซื้อประกันภัยและกองทุนรวมของธนาคารผ่านทางแอปดังกล่าว ซึ่งตอนนี้ธนาคารได้ยื่นขอคอนเซ็ปต์กับ ธปท.แล้ว” นางสาวมิ่งขวัญกล่าว

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง ต้องมีการหารือกับ ธปท. เพราะถือเป็นธุรกรรมใหม่ โดยปัญหาใหญ่ในตอนนี้คือ เรื่อง e-KYC ในการพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งปีนี้น่าจะเห็นโซลูชั่น (แนวทางแก้ปัญหา) ออกมา เพราะปัจจุบันคนใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางที่จะเข้าถึงการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารได้เปิดให้ใช้ตู้อิเล็กทรอนิกส์กับการขอสินเชื่อ คือ ตู้ Kiosk ที่ตั้งตามสาขาของธนาคาร สำหรับให้ลูกค้าขอสินเชื่อและสามารถรู้ผลการอนุมัติสินเชื่อได้ทันที เพราะตู้มีีจุดอ่านบัตรประชาชน และพูดคุยกับพนักงานผ่านวิดีโอคอลเพื่อระบุตัวตนได้เลย ปีนี้จะมีการขยาย 3-4 เครื่อง ในสาขาของธนาคาร 3-4 แห่ง

นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายดิจิทัลแบงกิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ พยายามจะทำเรื่องการขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว แต่ต้องเริ่มที่ฐานลูกค้าเดิม เพราะเป็นกลุ่มที่มีเอกสารและมีฐานข้อมูลทั่วไปและเครดิตบูโรอยู่แล้ว ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้ดีขึ้น โดยการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอปน่าจะเริ่มที่สินเชื่อไม่มีหลักประกัน ส่วนสินเชื่อมีหลักประกัน ยังทำได้ยากอย่าง แต่ในไทยติดปัญหาเรื่องการพิสูจน์หลักทรัพย์ ซึ่งการประเมินหลักทรัพย์ในไทยยังใช้เวลานานกว่าในต่างประเทศ

“ที่จริงตอนนี้หลายแบงก์ให้ลูกค้าขอสินเชื่อทางช่องทางออนไลน์ได้แล้ว แต่ยังต้องมีการคอนเฟิร์มและส่งเอกสารในช่องทางอื่น ซึ่งการขอสินเชื่อผ่านแอปจะต้องเชื่อมโยงกับ ธปท. เครดิตบูโร และ ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ด้วย” นายธนากล่าว