การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 24 เมษายน 2562

1.สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันพุธที่ 24 เมษายน 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

– มีค่าระหว่าง 21 – 55 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งแสดงถึง “คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมากซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีจุดใดอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมากเป็นจำนวน 5 พื้นที่ และพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีคุณภาพอากาศดี เพิ่มจากเดิม 4 พื้นที่ เป็น 7 พื้นที่ในวันนี้ และมีพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพลดลงเหลือเพียง 1 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน”

– มีค่าลดลงในพื้นที่ 8 จังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน ส่วนพื้นที่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้แก่ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก – เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว 7 พื้นที่ (คุณภาพอากาศดี) และสีฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 พื้นที่ (คุณภาพอากาศดีมาก)

ตารางที่ 1 แสดงค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ณ เวลา 9.00 น.

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 23 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้
– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 48 จุด โดยลดลงจากวันที่ 22 เมษายน 2562 จำนวน 39 จุด หรือคิดเป็นลดลง 44.8 %
– มีจำนวนมากสุดที่ จ. เชียงราย จำนวน 17 จุด
– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จุด
2) ป่าสงวนแห่งชาติ 30 จุด
3) พื้นที่เกษตร 2 จุด
4) ชุมชนและอื่น ๆ 3 จุด

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODIS

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS

3. สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 23 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมและจุดความร้อนนอกประเทศไทยบริเวณฝั่งเหนือของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และมีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น นอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ได้อีกด้วย

4. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

นายสมคิด ปัญญาดี เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังมีฝนตกในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ อากาศในเชียงใหม่เริ่มดีขึ้น ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการเผาไหม้ในพื้นที่ก็ได้มีการลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งอำเภอที่เกิดจุดความร้อนมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอสะเมิง ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าผลัดใบ ป่าไผ่ และป่าไม้สัก มีสภาพเชื้อเพลิงที่หนาแน่น รวมถึงฝนซึ่งปีนี้ที่มาช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา พบจุดความร้อนจากระบบดาวเทียม MODIS จำนวน 10 จุด พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในอำเภออมก๋อย 2 จุด อำเภอแม่แจ่มและสะเมิง อำเภอละ 1 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 2 จุด อำเภอเชียงดาว อมก๋อย และแม่ออน อำเภอจะ 1 จุด และไม่มีการปกคลุมของหมอกควันทำให้สามารถมองเห็นดอยสุเทพได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ สำหรับมาตรการควบคุมพื้นที่ห้ามเผาหลังสิ้นสุด 61 วันห้ามเผาโดยเด็ดขาด ในวันที่ 30 เมษายน 2562 ยังคงห้ามประชาชนเผาในเขตป่าไม้เป็นอันขาด ในส่วนของพื้นที่การเกษตรต้องมีการตกลงกันในแต่ละอำเภอสำรวจพื้นที่ที่จะต้องเผาหลังช่วงห้ามเผา ในการบริหารจัดการการเผา ในพื้นที่ที่จำเป็นจริง ๆ ให้เป็นไปตามแผน และจะมีการถอดบทเรียนเรื่องการเกิดไฟป่า พฤติกรรมการเผา ของประชาชนทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตน้อยที่สุด

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นางสาวชนเขต บุญญขันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ริเริ่มโครงการ “ผลิตภัณฑ์อากาศสะอาด” ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับบริษัทวีเอ็นพี พาวเวอร์ โปรดักชั่น จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นเหตุของเชื้อเพลิงในพื้นที่ ซึ่งใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นและกองทับถมกันจำนวนมากในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการลุกลามของไฟป่า เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยเฉพาะหมอกควันที่เกิดขึ้นส่งผลต่อทัศนวิสัยทางอากาศ เครื่องบินต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง ในวันเดียวกันนี้ หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับซื้อใบไม้แห้งอัดก้อนรอบแรกจาก หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 (ฉก.ร.7) จำนวน 940 กิโลกรัม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตถ่านไร้ควัน และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งได้เริ่มโครงการนำร่องกับทาง ฉก.ร.7 และจะขยายผลลงสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นอยู่ระหว่างการประสานงานผู้นำชุมชน โดยจะมอบเครื่องอัดให้ยืมเพื่อ นำไปอัดใบไม้มาส่งขายให้หอการค้าฯต่อไป ทั้งนี้ การนำใบไม้แห้งเข้าสู่กระบวนการผลิตถ่านไร้ควันและ ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ จะช่วยตอบโจทย์ทั้งการลดปริมาณต้นเหตุของเชื้อเพลิงและการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน แปลงใบไม้แห้งให้เพิ่มมูลค่า โดยเบื้องต้นหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ตั้งเป้าโครงการนำร่องรับซื้อ ใบไม้แห้งอัดก้อน จำนวน 20 ตัน และจะขยายผลเพิ่มเติมต่อไป

จังหวัดตาก

– หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแม่ระมาดร่วมกับเหยี่ยวไฟ สจป.ที่ 4 ตาก (ชุดปฏิบัติการร่วมเฉพาะกิจที่ 2) ออกลาดตระเวนค้นหาไฟในพื้นที่ ต.ขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด ไม่พบไฟป่าในพื้นที่

– ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าอำเภอแม่สอดจัดรถดับเพลิงทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถดับเพลิงจาก เทศบาลนครแม่สอด เทศบาลตำบลท่าสายลวด องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ และศูนย์ ปภ.เขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดเชียงราย

สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีบางจังหวัด เช่น เชียงราย ลำปาง น่าน และแม่ฮ่องสอน ที่ยังคง ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ เนื่องจากบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาไฟป่า เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนจากทั้งปัญหาหมอกควันและไฟป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่ แม้ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ แต่เจ้าหน้าที่ ยังคงเดินหน้าดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ดอยจระเข้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่เกิดไฟป่าไปแล้วกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า อาสาสมัคร ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ตลอดจนชาวบ้านและจิตอาสาฯ ได้ช่วยกันดับไฟและทำแนวกันไฟ ส่วนพื้นที่ที่ยากจะเข้าถึงด้วยการเดินเท้าได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ AS 350 เข้าโปรยน้ำแทน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามขยายวงกว้าง โดยในการปฏิบัติงาน นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน ขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งฝากให้กำลังใจทุกภาคส่วน ที่ปฏิบัติงานครั้งนี้ให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือครั้งนี้ นอกจากจะมีสาเหตุจาก แหล่งมลพิษจากกิจกรรมภายในประเทศแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน จึงควรผลักดันประเด็นหมอกควันข้ามแดนเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อหาทางออกและแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในระยะยาวต่อไป การขยายผล สถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือ มาตรการระยะสั้นดีขึ้น แต่ระยะกลางและระยะยาวยังไม่ดี จึงขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาตามมาตรการระยะกลาง และระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และ ขอความร่วมมือกับประชาชน และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหากรณีผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ไปเช่าพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านทำการเกษตรและมีการเผาพื้นที่เกษตรทำให้เกิดฝุ่นควันเข้ามาในประเทศไทย

จังหวัดพะเยา

– สภาพอากาศจังหวัดพะเยา ท้องฟ้ายังปกคลุมไปด้วยหมอกควันแบบบาง ท้องฟ้าเริ่มเปิด ทำให้สถานการณ์หมอกควันคลี่คลายลง เนื่องจากได้เกิดฝนตก มีลมพัดกระโชกแรงในพื้นที่ จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีแนวโน้มลดลงตลอดเวลา ส่งผลให้สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดพะเยาดีขึ้นกว่าทุกวันที่ผ่านมา สำหรับสถานการณ์การเกิดไฟป่ายังคงเกิดขึ้นไปทั่วจังหวัด และพบจุดความร้อนถึง 13 จุด ในเขตอำเภอเมืองพะเยาเกิดเหตุไฟไหม้ป่าชุมชน ในเขต ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพะเยา ทางเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลบ้านต๋อม ทางหลวงชนบท และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ได้นำรถน้ำ จำนวน 3 คัน เข้าดับควบคุมไว้ได้ พื้นที่อำเภอดอกคำใต้ เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง ชุดดับไฟป่า กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ดับไฟป่า จุดความร้อน จำนวน 1 จุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านวังขอนแดง ต.ห้วยลาน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ต้นเหตุมาจากราษฎรในพื้นที่ลักลอบเผาเศษไม้

– จังหวัดพะเยาร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (งานป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเทศบาลเมืองพะเยา) ร่วมดำเนินมาตรการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละออง ในอากาศ โดย นำรถยนต์บรรทุกน้ำ รถดับเพลิง ทำการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื่น ลดหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ทำความสะอาดถนน ต้นไม้ ณ บริเวณศาลหลักเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา
จังหวัดลำปาง

– กรณีเกิดจุดความร้อนจากการตรวจสอบของดาวเทียม Suomi NPP (VIIRS) ในพื้นที่อำเภองาว จำนวน 7 จุด บริเวณ ป่าสงวนแห่งชาติ ต.หลวงใต้, ป่าอนุรักษ์ ต.บ้านอ้อน, ป่าสงวนแห่งชาติ ต.นาแก ศูนย์ฯ War room อำเภองาว โดยฝ่ายความมั่นคงได้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ ประกอบด้วยหน่วยป้องกันรักษาป่า ลป 19, 21 (แม่โป่ง,แม่ตีบ), อช.ถ้ำผาไท สถานีควบคุมไฟป่าชีวมลฑล ห้วยทาก หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยโล่งเครือข่ายจิตอาสาดับไฟป่า นายกเทศบาลตำบลหลวงใต้ เจ้าหน้าที่ อบต.บ้านโป่ง, อบต.บ้านหวด, อบต.ปงเตา พร้อมรถน้ำและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกันดับไฟ จำนวน 30 คน ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้ร่วมกับ ฝ่ายความมั่นคง อ.งาว ทต.หลวงใต้ (รถบรรทุกน้ำ 2 คัน 16,000 ลิตร) จนท.ป่าไม้แม่โป่ง ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ทำการลาดตระเวนเส้นทางและตรวจสอบจุดเกิดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่รอยต่อ บ.น้ำจำ ม.1 และ บ.ทุ่ง ม.2 ต.หลวงใต้ ความเสียหาย 20 ไร่ สาเหตุจากการลักลอบเผา ได้ทำการเฝ้าระวังในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ลุกลามทำความเสียหายต่อไป ทั้งนี้ได้ลาดตระเวนขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เผา การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จังหวัดแพร่

– หน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ พร.10 (แม่ต้า) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ร่วมกับ หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแพร่ ประจำอำเภอลอง เจ้าหน้าที่ทหาร ชป.ไฟป่าฯ อ.ลอง ร่วมกันตรวจสอบ จุดความร้อน จำนวน 3 จุด เข้าตรวจสอบพบไฟป่าดับแล้วบางส่วน และลุกไหม้ใหม่ 1 จุด ซึ่งพบเป็นไหม้ ลามจากพื้นที่ทำการเกษตร ลามเข้าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย บริเวณ ห้วยขาง – ห้วยก็องแก้ง เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ร่วมกันดับไฟแล้ว ทำแนวกันไฟไว้อีกชั้น เพื่อกันลุกลามเข้าเขตป่าฯเพิ่ม พื้นที่เสียหายประมาณ 20 ไร่

– สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบท อบจ.แพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดลำพูน

– ตรวจพบจุดความร้อนในพื้นที่จังหวัดลำพูน รวม 3 จุด นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการ จังหวัดลำพูน ได้สั่งการให้นายอำเภอลี้ และนายอำเภอแม่ทา ประสานกำลังฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ, ทหาร, เจ้าหน้าที่ป่าไม้, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ชรบ. อปพร. ราษฎรจิตอาสา, เข้าปฏิบัติงาน ดับไฟที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดทันที โดยอำเภอลี้ เกิดจุดความร้อนขึ้น 2 จุด จุดที่ 1 พื้นที่บ่อขยะในชุมชน บ้านดงดำ ตำบลดงดำ จุดที่ 2 เขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่บ้านปางส้าน ตำบลดงดำ ชุดปฏิบัติการร่วมดับไฟป่าอำเภอลี้ สามารถดับไฟป่าได้แล้วเรียบร้อย ส่วนอำเภอแม่ทา เกิดจุดความร้อนเกิดขึ้น 1 จุด เขตป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ ตำบลทาแม่ลอบ ชุดปฏิบัติการร่วมดับไฟป่าอำเภอแม่ทา สามารถดับไฟได้แล้ว พื้นที่ได้รับความเสียหาย 3 ไร่

– นายโยธิน ประสงค์ความดี นายอำเภอแม่ทา สั่งการให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง นำกำลัง สมาชิก อส. อำเภอแม่ทา ที่ 3 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ร 7 พัน 1 , กำนันสารวัตรกำนัน ตำบลทาแม่ลอบ, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยเหี๊ยะ ตำบลทาแม่ลอบ และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ป่าเลา ร่วมตรวจสอบบริเวณที่เกิดจุดความร้อน ข้างห้วยขุนแม่เหล็ก บ้านห้วยเหี๊ยะ ตำบลทาแม่ลอบ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ผลการปฏิบัติเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปถึงบริเวณที่เกิดจุดความร้อน พบว่าไฟได้ดับแล้ว พื้นที่ความเสียหายประมาณ 3 ไร่

– สถานีควบคุมไฟป่าผาเมือง – ลำพูน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ร่วมกับ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง สมาชิก อส. อ.แม่ทา ที่ 3 ร่วมกับ จนท. ทหารชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ร7 พัน1 , ทีมปกครอง ต.ทาแม่ลอบ เข้าตรวจสอบบริเวณที่เกิดจุดความร้อน ตามที่ได้รับแจ้งจากศูนย์ War room จังหวัดลำพูน พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง บริเวณข้างห้วยขุนแม่เหล็ก บ้านห้วยเหี๊ยะ ตำบลทาแม่ลอบ ผลการตรวจสอบปรากฏว่าไฟได้ดับลงแล้ว พื้นที่เสียหาย 3 ไร่

จังหวัดน่าน

– อ.บ้านหลวง ร่วมกับ กกล.รส.จว.น่าน โดย มว.ม.ร้อย.รส.ที่ 1(ม.2 พัน.10) ชป.ดับไฟป่า อำเภอบ้านหลวง กพ. ม.2 พัน.10, ชป.ควบคุมไฟป่า ทพ.32, ประชาชนจิตอาสา, อช.นันทบุรี, หน่วยดับไฟป่านันทบุรี, หน่วยศึกษาพัฒนาการต้นน้ำพี้ ลาดตระเวนเฝ้าตรวจและทำแนวกันไฟ ณ พื้นที่ป่า บ.พี้เหนือ ม.4 ต.บ้านพี้ อ.บ้านหลวง (ห้วยพี้หลวง) เนื่องจากพบกลุ่มควันไฟเกิดขึ้นบริเวณ พื้นที่ดังกล่าว ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสามารถควบคุมไฟได้เรียบร้อย และเฝ้าระวังติดตาม สถานการณ์ไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

– อ.นาน้อย ร่วมกับ กกล.รส.จว.น.น. โดย หมู่.รส.มว.รส.ที่ 2 ร้อย.รส.ที่ 2 ม.2 พัน.15 (อ.นาน้อย) หน่วยป้องกันรักษาป่า นน.16, อช.ศรีน่าน, สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน ออกลาดตระเวนป้องกันไฟป่าในพื้นที่ อ.นาน้อย จำนวน 2 พื้นที่ ดังนี้ พื้นที่ บ.วังกอก หมู่ 4 ต.น้ำตก อ.นาน้อย และพื้นที่ บ.หัวเมือง หมู่ 1
ต.ศรีษะเกษ อ.นาน้อย ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

– อ.สันติสุข ร่วมกับ กกล.รส.จว.น.น โดย ชุดปฏิบัติการแก้วิกฤตหมอกควัน ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข ร้อย รส.ที่ 1 (มทบ.38) อ.สันติสุข ร่วมกับชุดปฏิบัติการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ต.พงษ์ อ.สันติสุข, อส.อ.สันติสุข, อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และประชาชน บ.กิ่วม่วง ม.6 ต.ดู่พงษ์ ร่วมกันเข้าพื้นที่ เพื่อลาดตระเวนตรวจสอบและดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขต บ.กิ่วม่วง ม.6 ซึ่งไฟได้ดับลงแล้ว ความเสียหายประมาณ 10 ไร่