กรมศุลฯ แถลงจับกุมตัวนิ่ม 136 ตัว และเกล็ด 450 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท

วันนี้ (31 ส.ค.) นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และนายวรวุฒิ วิบูลศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม ได้แถลงข่าวการตรวจยึดตัวนิ่มหรือลิ่นมีชีวิต จำนวน 136 ตัว และเกล็ดตัวนิ่มหรือลิ่น 450 กิโลกรัม ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย รวมมูลค่ากว่า 2,500,000 บาท ซึ่งทั้งตัวนิ่มและเกล็ดตัวนิ่มถูกขึ้นบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และเป็นของต้องห้ามนำเข้าหรือนำผ่านตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้แถลงว่า เพื่อให้บรรลุพันธกิจของกรมศุลกากรในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับนานาชาติ กรมฯ จึงได้มีนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ในการนี้อธิบดีฯ จึงสั่งการให้ นายชัยยุทธ คำคุณ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายวรวุฒิ วิบูลศิริชัย ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) นายณัฐวุฒิ สระฏัน ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนและปราบปราม 1 นายวรชิต เดชบวรลักษณ์ ผู้อำนวยการส่วนของกลาง และนายวันชัย แทนทรัพย์ หน.ชุดสืบสวนปราบปราม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากร ปราณบุรี ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบติดตามข้อมูลของขบวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งการตรวจยึดในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ อันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าจะมีการลักลอบนำตัวนิ่มหรือลิ่นและเกล็ดเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย โดยทยอยลักลอบเข้ามาและจะมีรถยนต์กระบะมารับสินค้าต่อในบริเวณจังหวัดชุมพร จึงได้สะกดรอยติดตาม เมื่อรถกระบะต้องสงสัยเดินทางถึงเขตพื้นที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากรปราณบุรี เมื่อช่วงคืนวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัว และขอเข้าตรวจค้นรถยนต์กระบะต้องสงสัยจำนวน 2 คัน ผลการตรวจค้นพบตัวนิ่มมีชีวิต จำนวน 136 ตัว และเกล็ดตัวนิ่มจำนวน 450 กิโลกรัม มูลค่ารวมประมาณ 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาท)

ตัวนิ่มมีชีวิตและเกล็ดตัวนิ่มจำนวนดังกล่าว ที่ได้ถูกยึดเป็นของกลาง ตามความในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบ มาตรา 16 มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 23 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และตัวนิ่มและผลิตภัณฑ์จากตัวนิ่มยังถูกขึ้นบัญชีเลขที่ 1 (Appendix I) ห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) นอกจากการจับกุมตัวนิ่มหรือลิ่นและเกล็ดแล้ว และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรยังได้จับกุมงาช้างลักลอบนำเข้าผ่านช่องทางพัสดุขนส่งระหว่างประเทศ จำนวน 6 กิ่ง น้ำหนักรวม 2.8 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 250,000 บาท อีกด้วย

อนึ่ง ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมศุลกากรเคยจับกุมตัวนิ่มและผลิตภัณฑ์จากตัวนิ่มไปแล้วกว่า 2.9 ตัน มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท และเคยจับกุมงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างไปแล้วกว่า 16,730 ชิ้น น้ำหนักรวม 75 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 7.5 ล้านบาท สำหรับสถิติคดีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าทั้งหมดที่ถูกขึ้นบัญชี CITES ในปีงบประมาณ 2560 นั้น จับกุมมาแล้ว 34 คดี รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 246,167,564 บาท (สองร้อยสี่สิบหกล้านหนึ่งแสนหกหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยหกสิบสี่บาท)