“หมอธี” ฝากถึงเจ้า ก.ศึกษาฯคนใหม่ ต้องรู้ลึกรู้จริงเพื่อแก้ปัญหาตรงจุด เน้นสร้างครูให้มีคุณภาพ ดึงความถนัดของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ตั้งคำถามจำนวนข้าราชการ over supply แต่จำนวนครูผู้สอน “ขาด” จะทำอย่างไร ชูปลูกฝังคิดดี-ทำดีตั้งแต่เด็ก และแฝงไว้ในการเรียน-การสอนและให้ทดลองทำจริง
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาสานต่อว่า อันดับแรกคือ รัฐมนตรีว่าการคนใหม่จะต้องมีความรู้ด้านการศึกษาเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทาง และนโยบายได้ชัดเจน ที่สำคัญคือต้องตรงกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข รวมถึงผู้นำ และบุคลากรด้านการศึกษาจะต้องเป็นคนดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น และจะต้องปลูกฝังการเป็นคนดีให้กับนักเรียน นักศึกษา
นอกจากนี้ ยังต้องเข้าถึง และเข้าใจนักเรียน นักศึกษา เพราะในแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันออกไป สำหรับยุคนี้การหาความรู้มีหลากหลายแนวทาง ไม่จำเป็นต้องเรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น กอปรกับจำนวนบุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าราชการ” ที่มีจำนวนมากเกินไป (over supply) ในขณะที่ตำแหน่งครูยังไม่เพียงพอในบางสาขา จะแก้ไขอย่างไร รวมถึงควรเพิ่มศักยภาพให้ครูมีคุณภาพมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากนโยบายพรรคต่าง ๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไม่พบว่ามีพรรคการเมืองใดมีนโยบายชัดเจน และลงลึกที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง แต่กลับให้ความสำคัญกับเรื่องของการ “เรียนฟรี” มากกว่า นอกจากนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรให้น้ำหนักไปที่ “นักเรียน” ในประเด็นความถนัดของเด็กแต่ละคน รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนไม่ควรมุ่งเน้นเพียงเด็กที่เก่งแล้วเท่านั้น
“ถ้าเรามีคนดีอยู่ในกระทรวง และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องคำนึงถึงเด็กจริง ๆ ประเทศจะไปรอด อย่างประเด็นคอร์รัปชั่นในกระทรวงตลอดช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งไม่มีเกิดขึ้นแน่นอน งบประมาณก็เหลือ เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น คงเป็นภารกิจที่ยังไม่มีใครแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และคงจะค้างไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน ไม่มีทางจบ กระบวนการทำงานต้องสุจริต และคิดถึงส่วนรวมให้มากที่สุด”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในแง่ของวิธีการสอนนักเรียนในยุคนี้ จะต้องเน้นย้ำเรื่องความดีด้วยการแฝงไว้ในแบบเรียน และในกิจกรรมการเรียน ยกตัวอย่าง ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่นำวิธีการเรียนรู้ด้วยการลงพื้นที่ปฏิบัติ โดยมีกรอบของการปลูกฝังเรื่องความดีไว้ในกิจกรรม ผ่านละครเวทีเรื่อง “ขุนเดช เดอะมิวสิคัล” ที่ใช้พื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นเวทีการแสดง ภายใต้กรอบนิยามคำว่า “ความดี” ที่นักศึกษาจะต้องถ่ายทอดผลงานไปให้กับผู้ชมคือคนในพื้นที่รอบอุทยานประวัติศาสตร์ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการทำความดีนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากคือการเป็นคนดี เพราะคนดีจะต้องประพฤติตัวอย่างสม่ำเสมอ
นอกเหนือจากนี้ เมื่อนักศึกษาได้ลงพื้นที่ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ เพราะคนในชุมชนมาร่วมการแสดงครั้งนี้ รวมถึงยังได้รับการสนับสนุน และช่วยทีมงานของนักศึกษาในการนำเสื้อผ้างานฝีมือของจังหวัดสุโขทัยเพื่อนำมาสวมใส่ในการร่วมแสดงด้วย
ตรงนี้ถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้พื้นฐานกับละครตะวันตกสามารถผสมผสานไปด้วยกันอย่างสมบูรณ์