43 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนฟังเสวนา ‘เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต’

ในวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562 นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” หนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับแรกของไทย จะก้าวสู่ปีที่ 43 นับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2518 ในชื่อหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติรายวัน ก่อนเปลี่ยนเป็น “ประชาชาติธุรกิจ” ในปี 2521

ตั้งแต่นั้น “ประชาชาติธุรกิจ” ทำหน้าที่รายงานข่าวสารเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เปรียบเหมือนคู่คิด นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป ที่ติดตามการรายงานข่าวซึ่งเกาะติดและเจาะลึกข้อมูลข่าวสาร สอดคล้องกับสโลแกน “เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว”

กว่าสี่ทศวรรษ กองบรรณาธิการและคนข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารทางธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว แม่นยำ กระชับ และฉับไว ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งใน และต่างประเทศ

จริงอยู่ปัจจุบันผลพวงจาก Digital Disruption เข้ามาเขย่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนัก แต่จากการที่เครือมติชน เล็งเห็นถึงทิศทางการรับสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และได้ Transform ตัวเอง ไม่ได้ผูกติดตัวเองอยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์ และมุ่งหน้าปรับตัวสู่การนำเสนอข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ ได้รับการยอมรับคือผู้นำในโลกยุคดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงพลิกตัวสู่การนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ

ก้าวสู่ปีที่ 43 “ประชาชาติธุรกิจ” เดินหน้านำเสนอข่าวสารใน 3 ช่องทาง คือ 1.หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ราย 3 วัน ทำหน้าที่เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำทุกข่าว มุ่งนำเสนอข่าวสารที่วิเคราะห์เจาะลึก เหมาะสำหรับนักธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ที่ต้องการติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด

2.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ นำเสนอข่าวสารที่ง่ายต่อการเข้าถึง มีข้อมูลประกอบครบครัน เสริมด้วยการผลิตบทวิเคราะห์พิเศษที่สอดรับกับสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และหาอ่านที่ไหนไม่ได้

3.การจัดงานสัมมนาเศรษฐกิจต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดดเด่นและแตกต่างจากเวทีสัมมนาอื่นๆ ด้วยการจับประเด็นซึ่งอยู่ในความสนใจ ทุกงานที่จัดขึ้นล้วนเป็นวิทยากรระดับซีอีโอ-ผู้บริหารที่ได้รับการยอมรับ

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าฟังการสัมมนาที่ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดขึ้น รวมกันแล้วกว่า 30,000 คน เช่นเดียวกับเนื้อหาในงานถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ทั้ง 3 ช่องทาง คือย่างก้าวสำคัญของ “ประชาชาติธุรกิจ” มุ่งหน้าสู่การสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรับกับโลกการสื่อสารที่เปลี่ยนไป

การประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าในทุกแง่มุมด้วยความแม่นยำ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับธุรกิจไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกปัจจุบันถูกย่อให้เล็กลง ไม่มีเส้นแบ่ง หรือพรมแดนการค้าอีกต่อไป

ชัดเจนอย่างยิ่งว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกช่วงเวลา มีผลโดยตรงถึงรูปแบบการใช้ชีวิต สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา Digital Disruption เป็นตัวเร่งสำคัญ การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจนนึกไม่ถึง แม้แต่ยักษ์ธุรกิจไม่สามารถยืนอยู่บนฐานที่มั่นของตัวเอง เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่ที่คาดไม่ถึงเข้ามาแย่งลูกค้า

คลื่นความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจทุกระดับต้องเดินหน้าปรับตัว (Transformation) อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวเข้ามา

มีไม่น้อยที่สามารถ “พลิกเกม” นอกจากจะรักษาฐานที่มั่นในธุรกิจเดิมเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้อย่างมหาศาล

แน่นอนว่าในเมื่อ “พลิกเกม-Game Changer” คือสิ่งที่อยู่ในความสนใจของภาคธุรกิจ และเคยเป็นหัวข้อการสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” มาครั้งหนึ่งแล้ว

โอกาสก้าวสู่ปีที่ 43 ประชาชาติธุรกิจจัดงานสัมมนา Game Changer ขึ้นอีกครั้ง เป็น Part II ภาคต่อจากครั้งที่ผ่านมา ในเช้าวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ (ชั้น 2 ฝั่งโรงแรม) โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต)

เปิดเวทีสัมมนาด้วย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการโครงการเขตเศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว “อีอีซี” ถือเป็นการ “เปลี่ยนเกม-Game Changer” ครั้งสำคัญ

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการลงทุน ประเทศไทยจะได้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าในภูมิภาคเอเชีย หลังจากหายไปเกือบ 20 ปี

แผนในปี 2562 ช่องรอยต่อ 2 รัฐบาล คือ ภารกิจการเคลียร์บัญชีลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ให้เป็นไปตามแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี ของเขตอีอีซี ที่วางไว้ประมาณ 6.5 แสนล้าน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, เมืองการบินอู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3, ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล

คณิศ แสงสุพรรณ

เลขาธิการอีอีซีคาดว่าภายในเดือน พ.ค.62 โครงการหลักทั้งหมด 4 โครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภา น่าจะจบกระบวนการได้ทั้งหมด

“หากการลงทุนทั้งหมดนี้เริ่มขึ้น คาดว่าจะมีการลงทุนในเขตอีอีซีเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้าน คิดเป็น 0.8% ของ GDP บวกกับการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีก 1 แสนล้าน สัดส่วน 0.8% ของ GDP นอกจากนั้นจะมีการลงทุนในธุรกิจ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และอื่นๆ อีก 0.4% จะดันตัวเลข GPD รวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2%”

สำหรับในอุตสาหกรรมธนาคาร ที่อยู่ในช่วงการฝ่ากระแสดิจิทัลดิสรัปต์ พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า Game Changer ของเคแบงก์เกิดขึ้นภายหลังจากเปลี่ยนมุมมองใหม่ จากที่คิดว่าตัวเองต้องแย่แน่ๆ มองแม้กระทั่งว่า “ฟินเทค” ตัวเล็กๆ เป็นศัตรู

แต่จากการศึกษา เรียนรู้ ปรับวิธีคิดใหม่ แปลงศัตรูเป็นมิตร มองฟินเทคเป็นพาร์ตเนอร์ ทำให้มีนวัตกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

พิพิธ เอนกนิธิ

ในแง่ของธุรกิจเลกาซี่เก่าๆ ก็ยังมีอยู่ เพราะของเก่ายังสร้างรายได้สำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้าง S-curve ที่สองขึ้นมา ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน และลูกค้าต้องการอะไร

“การเปลี่ยนเกม ทำให้วันนี้โลก 2 โลกก้าวข้ามแดนมาร่วมมือกัน ทำงานด้วยกัน ไม่ใช่แค่ฟินเทคกับสถาบันการเงินเท่านั้น ภาพอนาคตจะเกิดความร่วมมือแบบ cross indutry กันไปหมด กลายเป็น new industry โดยมีเรื่องของ ‘ดาต้า’ เป็นตัวขับเคลื่อน และผมมองว่านี่คือการสร้างมูลค่าที่แท้จริง ที่จะเกิดขึ้นกับภาพรวมของเศรษฐกิจ และสังคมในยุคต่อไป”

ขณะที่ฟากธุรกิจพัฒนาที่ดิน ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ในฐานะ Game Changer แถวหน้าวงการ ปี 2562 คือวันครบรอบการก่อตั้งปีที่ 20 ของยักษ์ใหญ่รายนี้

นอกจากต่อยอดลงทุนตามโมเดลธุรกิจ “ทฤษฎีระฆังคว่ำ” เลือกเฟ้นทำเลอย่างบ้าคลั่งในรัศมีไม่เกิน 300 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้า แบ่งการพัฒนาคอนโดมิเนียมตามระยะทางใกล้-ไกล โดยใช้แบรนด์ไอดีโอ ราคา 1-2 แสนบาท/ตร.ม. กับเอลิโอ ราคา 8 หมื่น-1 แสนบาท/ตร.ม. เป็นแบรนด์ธงในการแข่งขัน

ชานนท์ เรืองกฤตยา

ไฮไลต์ปีนี้ อนันดาฯเปิดคอนโดฯมูลค่าสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ภายใต้แบรนด์ “ไอดีโอ คิว พหล-สะพานควาย” มูลค่าโครงการเกือบ 10,000 ล้านบาท ติดบันไดสถานีบีทีเอส สะพานควาย

คีย์ซักเซสของอนันดายังพุ่งเป้าไปที่การเติบโตยั่งยืน รวมถึงการเป็นดีเวลอปเปอร์ไทยรายแรกของที่ “ร่วมทุน” กับพันธมิตรญี่ปุ่น “กลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง” ตั้งแต่เมื่อปี 2556

สมโภช อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ที่เป็นที่จับจ้องในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดปีที่ผ่านมา จากข้ามสเต็ปจากบริษัทผู้ผลิตพลังงาน ด้วยการเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี ฝีมือคนไทย ภายใต้แบรนด์ ไมน์ โมบิลิตี้ “MINE Mobility”

งานมอเตอร์โชว์ปีที่ผ่าน เขาแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ 3 รุ่น ได้แก่ คือ เอ็มพีวี อีวี, ซิตี้ อีวี และสปอร์ต อีวี หลายคนคิดว่าคงอีกนานกว่าจะเป็นจริงจัง แต่ในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สมโภชเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า ไมน์ สปา วัน เป็นรถเอ็มพีวี ไซซ์ใหญ่ ตั้งราคาไว้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผลิตและส่งมอบได้จริงราวต้นปี 2563 ฟันยอดจองไปกว่า 3 พันคัน

สมโภชน์ อาหุนัย

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สมโภชยังได้ประกาศลงทุนคู่ขนาน ทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “EA Anywhere” วางเป้าหมาย 1,000 จุด ภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีติดตั้งไปแล้ว 300-400 แห่งทั่วประเทศ

ล่าสุด ยังขยายตลาดไปสู่เรือโดยสารไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ใน EEC

ในส่วนเดอะมอลล์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อีกรายหนึ่งในวงการค้าปลีกไทย ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นผู้หนึ่งที่จะขึ้นเวทีสัมมนาที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันพุธที่ 22 พฤษภาคม ชี้ให้เห็นว่าการดิสรัปต์ที่เกิดขึ้นในธุรกิจต่างๆ มีผลให้โลกไม่มีพรมแดนด้านการค้า ทุกคนสามารถเข้าไปค้าขายได้ทุกที่ในโลก

ศูนย์การค้ายังไปได้ แต่ต้องมีความแตกต่าง winning formula ต้องหาให้ได้ว่าอะไรจะเป็นตัวดึงให้คนอยากมา เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ คนก็ไม่ออกจากบ้าน ยกตัวอย่างที่เรากำลังเปลี่ยนเดอะมอลล์ ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ให้เป็น life store เพราะต้องการบอกลูกค้าว่า เราไม่ใช่แค่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์อีกแล้ว

ศุภลักษณ์ อัมพุช

“เมื่อก่อนเราพูดกันแต่โลเกชั่น เดี๋ยวนี้โลเกชั่นดีๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องหา winning formula ให้ได้ ซึ่งมันไม่ง่าย แต่ละโครงการยังใหญ่มาก ของเราโปรเจ็กต์เดียว เท่ากับคนอื่น 4 โปรเจ็กต์ ต้องทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับบริการที่ดี ประสบการณ์ที่ดี ต่างจากสมัยก่อนสร้างศูนย์การค้าขึ้นมามีของให้หลากหลายก็พอ เช่นเดียวกับหลังจากนี้จะเห็นภาพการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ทั้งในระดับโลคอลและโกลบอลที่เราจะสร้างการเติบโตของธุรกิจร่วมกัน”

แน่นอนว่าทิศทางของกลุ่มเดอะมอลล์จะไม่ได้เป็นเพียงห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าอีกต่อไป


(สนใจเข้าฟังงานสัมมนา Game Changer Part II เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต ลงทะเบียนได้ที่ www.prachachat.net )