ครม.ไฟเขียวเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐ “บิ๊กตู่” สั่ง ดีอี คุมค่าบริการอินเตอร์ AIS-DTAC-ทรู

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักการโครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 24,700 หมู่บ้าน เพื่อให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายเน็ตประชารัฐไปให้บริการปลายทาง (Last Mile Access) ไปยังทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและลดต้นทุนในการคิดอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยราคาที่เหมาะสมอีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

นายณัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า การคิดค่าอัตราการบริการไปยังบ้านเรือนประชาชนจะถูกลงเพราะผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่ต้องลงทุนในโครงข่ายหลัก ลงทุนเพียงในช่วง Last Mile Access เพื่อให้ไปถึงบ้านประชาชนหรือสถานที่ทำงานได้ ดังนั้น มติครม.ดังกล่าวจึงเป็นการยืนยันให้สามารถใช้งานแบบ Open Access Network ได้

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำกับดูแลให้การขึ้นอัตราค่าบริการของเอกชนเป็นไปอย่างเหมาะสม เนื่องจากเอกชนได้รับประโยชน์จากโครงข่ายหลักที่รัฐบาลได้ลงทุนไปแล้ว และไม่มีต้นทุนค่าบำรุงรักษาโครงข่ายหลักดังกล่าว หรือ ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจะเสียค่าบริการรายเดือนถูกกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ”

นายณัฐพรกล่าวว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่าย ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่าย เช่น  บริษัท เอส ที ซี เน็ทเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ประกอบการที่มีโครงข่าย เช่น บริษัท  ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายรัฐบาลจะไม่เก็บค่าเชื่อมต่อโครงข่าย แต่ผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายจะต้องมาทำข้อตกลงกับดีอีเพื่อเปิดโครงข่ายของตนที่มีอยู่