“จนไม่จริง” 4.5 ล้านคน รัฐบาลใหม่เตรียมคัดออกจาก “บัตรคนจน”

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายเงินให้ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรผู้มีรายได้น้อย โดยจะพิจารณาจาก “รายได้” ของครอบครัว-การเลี้ยงดูของบุตร หลาน และการหลักทรัพย์เป็นหลัก คาดว่าจะทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 14.5 ล้านคน เหลือเพียง 10 ล้านคน ลดภาระงบประมาณลง 4.5 ล้านคน

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมเสนอปรับเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ต่อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

จากหลักเกณฑ์เดิม คือ 1.ผู้ลงทะเบียนจะต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป 2. ต้องเป็นผู้มีรายได้ ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี 3.ต้องมีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 1 แสนบาท 4. มีบ้าน ขนาดไม่เกิน 25 ตร.ว. และมีคอนโดไม่กิน 35 ตร.ว. และ 5.มีที่ดินเพื่ออาศัย อยู่เอง ไม่เกิน 1 ไร่ และมีที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่

พิจารณารายได้ของครอบครัว

โดยหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือ การพิจารณาจากรายได้ของครอบครัว แทนที่จะพิจารณาเป็นรายบุคคล เนื่องจากเมื่อมีการตรวจสอบจากฐานะของครอบครัวแล้ว พบว่าบางกรณี ลูก-หลาน ที่ไม่มีรายได้ ทำการลงทะเบียนและสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เมื่อมีตรวจสอบแล้ว พบว่าครอบครัวมีฐานะดี ดังนั้นหากผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการขาดคุณสมบัติ ต้องถูกคัดชื่อออกไปทันที

ซึ่งจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับอำเภอ และคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน เข้าตรวจสอบด้วย เพื่อคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับบัตรสวัสดิการ คณะกรรมการดังกล่าว จะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับข้อมูลในพื้นที่ ทำให้การคัดกรองคนเข้าและออก มีความแม่นยำและรวดเร็ว รวมถึงหากพบว่าผู้ที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐขาดหลักเกณฑ์ข้อใดจะต้องถูกชื่อคัดออกทันทีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (20 พ.ย.2561) อนุมัติมาตรการ “ประชานิยม” ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ใช้งบประมาณเกือบ 2 แสนล้าน เพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอื่น เช่น มาตรการบรรเทาภาระ ค่าไฟ- ค่าน้ำประปา เงินให้ฟรีเทศกาลปีใหม่ 500 บาท ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล รายละ 1,000 บาท ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/เดือน

และในช่วง 5 ปีงบประมาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีการใช้จ่ายงบประมาณผ่านนโยบายการคลัง-การตั้งงบกลางปีเพิ่มเติม เพื่อกลุ่มเศรฐกิจฐานราก เช่น นโยบายไทยนิยมยั่งยืน มาตรการประชารัฐ ไปถึง 878,506.26 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี ในช่วง 1 ปีก่อนเลือกตั้งสูงสุดจำนวน 372,127.26 ล้านบาท ในภาวการณ์เช่นนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

อนึ่ง ข้อมูล มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนิน “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท ครั้งแรก (วันที่ 15 ก.ค. 2559 – 15 ส.ค. 2559) ผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่เริ่มต้นในปีแรใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 17,469 ล้านบาท โดยจ่ายเงินให้ผู้มาลงทะเบียน 7,715,359 คน ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับ 3,000 บาท หากมีรายได้ 30,001-100,000 บาท จะได้รับ 1,500 บาท โอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559 สิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค. 2560 และครั้งที่ 2 ในปี 2560 รัฐเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติม (3 เม.ย. – 15 พ.ค. 2560) ผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 11.4 ล้านคน

ในปีที่ 2 ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ต.ค. 2560 – 27 ก.ย. 2561) มีผู้มาใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 42,509.82 ล้านบาท แบ่งเป็นจ่ายให้ร้านธงฟ้าประชารัฐ จ่ายให้ร้านก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถ บขส. ค่าโดยสารรถไฟ-รถไฟฟ้า และโอนเงินเข้าบัญชีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ครั้งที่ 3 รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนเพื่อ “สวัสดิการแห่งรัฐ” รอบพิเศษ (15 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2561) ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนในรอบที่ 2 มีผู้ได้รับสิทธิ์เพิ่มอีก 3.1 ล้านคน รวมกับผู้ที่ถือบัตรเดิม 11.4 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน

รวมถึงเมื่อ 3 ก.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดให้ตั้งงบประมาณ 46,000 ล้านบาทต่อปี