อัดงบ “รถไฟฟ้าภูเก็ต” เพิ่ม 10% รฟม.ปรับแบบลดผลกระทบ

ภูเก็ตหนึ่งในเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวที่กำลังดำเนิน “โครงการระบบขนส่งมวลชน” ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ ต่อจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดย รฟม.แบ่งการดำเนินงานโครงการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมดจำนวน 21 สถานี และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ทั้งนี้ รฟม.จะเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา รฟม.ได้ดำเนินการจัดการทดสอบความสนใจของนักลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ต โดยมีนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับฟังข้อมูลโครงการเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างการหารือกับกรมทางหลวงในประเด็นต่าง ๆ เพื่อขอใช้พื้นที่ทางหลวงในการดำเนินโครงการ ได้แก่ รูปแบบสถานี ทางวิ่ง ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายจราจร รวมทั้งการจัดการจราจรตามแนวเส้นทางโครงการบนทางหลวง เป็นต้น

ภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปในการดำเนินการข้างต้นแล้ว รฟม.จะนำมาปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้ภายในปี 2563 จากนั้น รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการ เพื่อออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

รฟม.รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ต่อจาก สนข.ได้รับแบบเบื้องต้นไว้ปีที่แล้วอยู่บนพื้นฐานของแบบ ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในระยะวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุน มีประเด็นติดค้างความชัดเจนของแบบถนนหลักที่มีการจราจรหนาแน่น ประเด็นนี้กรมทางหลวงห่วงใยเมื่อดำเนินการเป็นรูปธรรมมีการขอใช้พื้นที่ทางหลวงเป็นหลักนำสู่กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงจะพยายามรักษาช่องจราจรให้เท่าเดิม อาจมีการปรับเล็กน้อย แต่คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เปิดบริการในกลางคืนด้วย

สำหรับงบประมาณการลงทุน ประมาณ 30,000 ล้านบาท มีการปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10% ไม่เป็นอุปสรรคให้ล่าช้าที่จะเกิดโครงการนี้ เบื้องต้นมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนในจุดที่มีจราจรหนาแน่น ปรับรูปแบบก่อสร้างลดผลกระทบในบริเวณนั้น โดย รฟม.จะใช้เวลาสำรวจออกแบบอีก 4-6 เดือน ในการปรับส่วนนี้และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวภูเก็ตอีก 1-2 ครั้ง จะมีการขยับเล็กน้อยบนพื้นฐานความชัดเจน จุดที่ปรับมีแยกบางคูไปออกบายพาส และอีก 1-2 จุด เป็นความร่วมมือการแก้ปัญหาจุดตัดจุดกลับรถ ซึ่งใช้รูปแบบวิ่งระดับพื้นดิน ชิดเกาะกลาง ยกเว้นทางแยกทางกลับรถ การก่อสร้างแบบแชร์ถนนกับรถ และมีบางจุดที่คำนึงความปลอดภัยระหว่างกัน และถ้าเจอไฟแดงให้รถไฟฟ้าไปก่อน ส่วนการก่อสร้างมีการกั้นเป็นช่วง ๆ ทางคณะ สนข.จะดูความเหมาะสมเตรียมการแก้ปัญหาไว้แล้ว

ในส่วนแผนที่ปรับดำเนินการในเรื่องการออกแบบและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเริ่มในต้นในปีหน้า และจะขอความเห็นชอบจาก ครม.ในต้นปี 2563 เช่นกัน ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้น มีขั้นตอนการทำเอกสารเชิญชวนร่วมลงทุนในปลายปี 2563 เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 จากนั้นเปิดบริการได้ในปี 2567


สำหรับรายละเอียดรถไฟฟ้าภูเก็ตจากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รูปแบบที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาระบบ tram แบ่งก่อสร้าง 2 ระยะ ในระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. มี 21 สถานี เป็นระดับพื้นดิน 19 สถานี ยกระดับ 1 สถานี และใต้ดิน 1 สถานี ข้อมูลเดิมกำหนดเงินลงทุนไว้ประมาณ 34,827.28 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 1,521 ล้านบาท สร้างเดโป้ 46 ไร่ ตรงโลตัสถลาง สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้งงานโยธา 17,797 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9,508 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,492 ล้านบาท ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1,452 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,737 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กม.