ม.หอค้าไทยชี้ความเชื่อมั่นฯ-เศรษฐกิจขาขึ้น เล็งปรับจีดีพีเป็น 3.8-4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2560 จากประชาชน 2,246 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้น ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ยกเว้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต เพิ่มเป็น 74.5 และ 84.2 จาก 73.9 และ 83.1 ในเดือนกรกฎาคม แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงจาก 51.7 มาอยู่ที่ 51.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เพิ่มขึ้นจากกรกฎาคม 62.2 69.1 90.4 มาอยู่ที่ 62.4 69.7 91.5 ตามลำดับ

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยบวกในเดือนสิงหาคม ที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 ขยายตัว 3.7% สูงสุดรอบ 17 ไตรมาส ทำให้ครึ่งปีแรกขยายตัว 3.5% ผลจากแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก การท่องเที่ยว บริการและลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว สศช. จึงปรับประมาณการทั้งปีจาก 3.5% เป็น 3.7% ประกอบกับการส่งออกเดือนกรกฎาคม ขยายตัว 10.48% และ 7 เดือนแรก ขยายตัวแล้ว 8.20 % คณะรัฐมนตรี (ครม.) คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50 % ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 40.08 จุด และเริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ หลังไม่มีความรุนแรงจากกรณีศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว ขณะที่ปัจจัยลบ คือ น้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้น ราคาพืชผลเกษตรส่วนใหญ่ทรงตัวระดับต่ำ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวสูง และเริ่มกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีเหนือ

“ผลสำรวจสะท้อนว่าความเชื่อมั่นประชาชนเริ่มดีขึ้น มองอนาคตดีขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ยังมองว่าฟื้นตัวในมหภาค แต่เศรษฐกิจรากหญ้าไม่ได้เห็นชัด จึงทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจปัจจุบันยังติดลบ เพราะยังห่วงเรื่องรายได้ในอนาคต ค่าครองชีพสูงกว่ารายรับ ซึ่งดูได้จากการสำรวจภาวการณ์ใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนสิงหาคม ยังเห็นไม่เหมาะสมที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านใหม่ ใช้จ่ายท่องเที่ยว และลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้น และดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิต ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน “

นายธนวรรธน์กล่าวว่า เชื่อว่าอีก 2 เดือนดัชนีมองเศรษฐกิจปัจจุบันจะดีขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมจะกลับมาเป็นขาขึ้น เพราะมีปัจจัยเรื่องการฟื้นตัวของการส่งออก ราคาพืชผลดีขึ้น ฤดูการใช้จ่ายและท่องเที่ยวปลายปีเริ่มกลับมา อีกทั้งนโยบายสวัสดิการคนจน และลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลัง จะเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน ช่วยดึงกำลังซื้อที่เหลือของปีนี้ รวมถึงความวิตกต่อปัญหาการเมืองในประเทศคลี่คลาย ดูจากผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนจากปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้ทางศูนย์ฯเตรียมปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งปี 2556 ขยายตัว 3.8% และมีโอกาสถึง 4% จากเดิม 3.6% โดยสมมุติฐานจากจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 3.8% และไตรมาส 4 ขยายตัวเกิน 4% การส่งออกทั้งปีขยายตัว 5% การท่องเที่ยวยังโตดี แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจคือปัญหาขัดแย้งสหรัฐ-เกาหลีเหนือ จนกระทบต่อการท่องเที่ยว และการส่งออก จนกระทบจิตวิทยาการใช้จ่ายและท่องเที่ยวปลายปีนี้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์