สหภาพแรงงานแบงก์ฯ ยื่นหนังสือ รมว.คลัง หวั่นควบรวม “TMB-TBANK” คนตกงาน 4-5 พันคน

เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน (BFUN) ยื่นหนังสือต่อ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ทวงความชัดเจน ภายหลัง TMB ควบรวมกิจการ TBANK หวั่นลูกจ้างตกงาน 40% หรือราว 4-5 พันคน แย้มนโยบายตอนนี้ “กดดัน KPI พนักงาน” ชี้สาขาใกล้เคียง-หน่วยงานที่ซ้ำซ้อน อย่างไรก็จำเป็นต้องลดคน หาทางออกเยียวยาต่อยอดหนทางในการดำเนินธุรกิจ เตรียมเดินหน้าพบผู้ว่า ธปท.เป็นคิวต่อไป

นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหมด 9 แห่ง (BFUN) เปิดเผยว่า วันนี้ได้มายื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ต้องการทราบความชัดเจน และแนวทางการดูแลพนักงานหลังมีการควบรวมธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เนื่องจากเบื้องต้น พบว่า ภายหลังการควบรวมจะส่งผลให้มีพนักงานอย่างน้อย 40% ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นต้นทุนหลักของธนาคาร

“วันนี้จะเห็นว่าดิจิทัลแบงก์กิ้งมีผลกระทบทำให้พนักงานแบงก์ลดลงอย่างมาก และในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าพนักงานแบงก์จะถูกเลิกจ้างไปอีกเยอะมาก ดังนั้นการควบรวมสองธนาคารนี้ เราอยากจะให้กระทรวงการคลังที่กำกับดูแล และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB ได้ช่วย ซึ่งเบื้องต้นได้ขอนัดเข้าพบเพื่อหารือในวันที่ 26 ก.ค.นี้” นายไวทิตกล่าว

นายศุภาชัย ภัทรพิศุทธนา ประธานสหภาพแรงงานธนาคารธนชาต กล่าวว่า ขณะนี้ตามสาขาต่างๆ ของทั้งสองแบงก์ที่มีความซ้ำซ้อนกัน มีการเรียกกดดันบ้าง โดยนโยบายของ TMB และ TBANK ยืนยันตลอดเวลาว่าจะไม่มีการลดคน ซึ่งจริงๆ แล้วข้อเท็จจริงทราบกันดีอยู่ สาขาใกล้เคียง หน่วยงานที่ซ้ำซ้อน อย่างไรก็ต้องลดคน แต่ตอนนี้ผู้บริหารยังยืนว่าจะไม่ลดคนแน่นอน แต่ปัจจุบันใช้วิธีการคือ “กดดันพนักงาน”

อย่างไรก็ดี หากแบงก์มีความจำเป็นต้องลดหน่วยงานหรือลดพนักงานจริงๆ ไม่อยากให้จ่ายผลประโยชน์ตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะให้ช่วยดูแลเพิ่มเติม เพราะการดูแลตามกฎหมายอยู่ยาก เพราะพนักงานที่กระทบกระเทือนคาดว่าไม่น้อยกว่า 4,000-5,000 คน โดยปัจจุบันพนักงานธนาคารธนชาตมีอยู่กว่า 10,000 คน ขณะที่ธนาคารทหารไทยมีอยู่เกือบ 10,000 คน ซึ่งเมื่อควบรวมกันแล้วคนในองค์กรอย่างไรก็ต้องหายไป

“ที่แล้วมาเวลาเลิกจ้างหรือการที่จะจี้ใครลง บางครั้งมันเป็นการลักษณะใช้อำนาจ โดยคนใกล้ชิดจะได้อยู่ในองค์กรต่อ หรือคนที่มีประโยชน์หรือว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นคนใกล้ชิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในสายงานนั้นๆ ซึ่งที่แล้วๆ มาการควบรวมตั้งแต่แบงก์นครหลวงกับมหานคร หรือแบงก์ไทยทนุกับทหารไทย ก็มีการควบรวมมาก็ไม่จบ การที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้ผมมองว่า ตามกฎหมายแรงงานมันต้องมีว่าค่าตอบแทนของแต่ละคนต้องไม่น้อยกว่าเดิม และหากมีพนักงานออกไปอยากให้ธนาคารหรือรัฐบาลช่วยดูแลในเรื่อง “การต่อยอด” หนทางในการดำเนินธุรกิจให้ดำรงอยู่ได้”

วิถีปฏิบัติที่ผ่านมาจะเห็นว่าพนักงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากการถูกเลิกจ้างด้วยการยื่นซองขาว ด้วยการเรียกคุยโดยตั้ง KPI ที่มันทำไม่ได้ และท้ายที่สุดคนที่มีผลกระทบคือลูกจ้าง

ทั้งนี้ ภายหลังจากยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว จะเดินหน้ายื่นหนังสือขอเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินด้วย