ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า รับคาดการณ์เฟดลดดอกเบี้ยสิ้นเดือนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 30.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ก่อนหน้า (12/7) ที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวเคลื่อนไหวแถวระดับ 30.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ในวันศุกร์ (12/7) หลังมีแรงขายเงินบาทภายหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ โดยปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562

นอกจากนี้ทาง ธปท.ยังมีมาตรการยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติด้วย ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าว ทาง ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จึงพร้อมดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทได้เคลื่อนไหวตามปัจจัยในต่างประเทศ โดยเพาะการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในสัปดาห์นี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมายังไร้ทิศทาง โดยเมื่อคืนวันอังคาร (16/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนออกมาสูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีการเปิดเผยรายงานตัวเลขการผลิตภาคโรงงานเพิ่มสูงขึ้น 0.4% ในเดือนมิถุนายน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

นอกจากนี้สำหรับปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ความคืบหน้าในการเจรจาประเด็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้กล่าวในวันอังคาร (16/7) ว่า สหรัฐยังคงมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้ และสหรัฐอาจจะต้องจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนเป็นมูลค่าเพิ่มอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ถ้ารัฐบาลจีนไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ในเรื่องของจัดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ

ส่วนสถานการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐนั้นในคืนวันพฤหัสบดี (18/7) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญหลังนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังจะชะลอตัว และสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยหลังการแสดงความเห็นดังกล่าว ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ โดย FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า มีโอกาส 65.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.25-2.50% และมีโอกาส 34.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.75-2.00% โดยจากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.74-30.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 30.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (15/7) ที่ระดับ 1.1271/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 1.1257/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังแปรผันตามปัจจัยภายใน โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่สู้ดีนัก ในวันอังคาร (16/7) สถาบัน ZEW เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนเยอรมนีลดลงมากกว่าช่วงเดือนก่อนหน้า โดยลดลงสู่ระดับ -24.5 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความขัดแย้งในประเทศอิหร่าน นอกจากนี้ค่าเงินยูโรได้ถูกกดดันเพิ่มเติมหลังจากนักลงทุนมีความคาดหวังว่าทางธนาคารกลางยุโรปจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมไว้ที่ระดับ 0% ในการประชุมครั้งนี้และคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย 0.1% ในการประชุมเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1200-1.1284 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 1.1247/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (15/7) ระดับ 107.85/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 108.30/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เคลื่อนไหวแข็งค่าในฐานะเงินสกุลปลอดภัย เนื่องจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก รวมถึงการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกในสัปดาห์นี้ของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ในวันพฤหัสบดี (18/7) มีรายงานดุลการค้าที่ออกมาเกินดุลอยู่ 5.895 แสนล้านเยน เกินดุลสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะมียอดเกินดุลที่ 4.035 แสนล้านเยน และในวันศุกร์ (19/7) มีตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนมิถุนายนออกมาที่ 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.20-108.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 107.66/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ