อหิวาต์หมูทุบราคาดิ่ง5บ./กก. ส.ผู้เลี้ยงราชบุรีลงขันตั้งกองทุนเฝ้าระวัง

แฟ้มภาพ

ส.ผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี มีมติเก็บเงินแม่หมูตัวละ 30 บาท ลงขันตั้งกองทุนสกัดอหิวาต์แอฟริกา ด้าน “ซีพีเอฟ-เบทาโกร” แจงเหตุไม่ร่วม อ้างทุ่มเงินตั้งศูนย์ฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ด่านชายแดนแล้วหลายล้าน – โรคยังไม่ระบาดเข้าไทย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกร 6 ภาคมีความกังวลมากว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จะแพร่เข้ามาในไทย เนื่องจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา สปป.ลาวเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก

ดังนั้น จึงมีมติร่วมกันว่าจะลงขันเพื่อตั้งกองทุนกันเองในแต่ละภาค เพื่อนำไปซื้อสุกรของรายย่อยที่ไม่มีระบบป้องกันที่ดี แถมเมื่อเกิดโรคอาจแอบลักลอบเคลื่อนย้าย ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ผลักดันเรื่องการจัดกองทุน โดยจะเก็บจากแม่สุกรตัวละ 10 บาท แต่ยังไม่มีความก้าวหน้า เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทใหญ่

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่เลี้ยงหมูมากที่สุดของประเทศ ผู้ประกอบการจึงลงมติจัดเก็บเงินเข้ากองทุน โดยนำร่องเก็บจากแม่พันธุ์ 2.5 แสนตัว ตัวละ 30 บาท หมูขุน 3 ล้านตัว ตัวละ 5 บาท เพื่อนำมาใช้ใน 4 วัตถุประสงค์ คือ

1.นำมาจัดซื้อเครื่องพ่นยาและน้ำยาฆ่าเชื้อ ASF กับรถยนต์และคนที่จะเข้ามาจับหมูในเขตราชบุรีไป

2.เพื่อนำมาแก้ปัญหาหากเกิดโรค จะได้ไม่แพร่กระจายและจบเร็ว

3.นำไปรับซื้อหมูจากผู้เลี้ยงรายย่อยที่ระบบการป้องกันโรคนี้ไม่ดี แต่ยังไม่เกิดโรค

4.ร่วมกับปศุสัตว์เขต 7 เฝ้าระวังหากมีการนำหมูหรืออุปกรณ์นอกเขตเข้ามาในราชบุรี

ทั้งนี้งบฯในส่วนเฝ้าระวังของทางราชการมีเพียงปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่ต้องเฝ้าระวังตั้งด่านสกัด พร้อมอุปกรณ์ น้ำยาฆ่าเชื้อ เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อจังหวัด เอกชนจึงต้องตั้งกองทุนขึ้นมาเสริม

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเหตุผลที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่ร่วมลงขันเพื่อจัดตั้งกองทุนชดเชยฯดังกล่าว บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ทางซีพีเอฟได้ร่วมลงขันร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงหลายรายจัดทำศูนย์ฆ่าเชื้อสำหรับยานพาหนะที่ผ่านเข้าออก 2 ด่าน คือ ด่านชายแดน จ.มุกดาหาร ด่านชายแดน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อป้องกันการระบาดโรคดังกล่าวยังไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทยไปก่อนหน้านี้แล้ว

แหล่งข่าวจากคณะทำงานเบทาโกร เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทประสานงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการวางระบบติดตามเฝ้าระวัง (monitor) อย่างใกล้ชิด และทางเบทาโกรได้รับผิดชอบดำเนินการสร้างที่ด่านพ่นยาฆ่าเชื้อ บริเวณด่านชายแดน จ.นครพนม เพื่อป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดไปก่อนหน้านี้และยินดีช่วยอบรมผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กลุ่มผู้เลี้ยงบางกลุ่มพยายามสร้างกระแสเรื่องการระบาด ASF เพื่อกดราคาหมูบริเวณชายแดน โดยล่าสุดราคาหมูแนะนำของกรมการค้าภายในปรับลดลง กก.ละ 5 บาท จาก กก.ละ 140-145 บาท เหลือ กก.ละ 135-140 บาท