“ธนวรรธน์” ชูรัฐบาลกระตุ้นศก.ตรงจุด ม.หอการค้าประเมินจีดีพีโต 0.4%

ม.หอการค้าไทย ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันจีดีพีโต 3-3.4% ป้องกันความเสี่ยงกระตุ้นไม่ทัน-เศรษฐกิจโลกทรุด พร้อมแนะรัฐดูแลค่าเงินบาทอยู่ระดับ 30.7-30.8 บาทต่อดอลลาร์ ลดผลกระทบท่องเที่ยวและส่งออก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจโตอย่างน้อย 0.4% ในปีนี้ โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3.0-3.4% เหตุที่ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ต่ำกว่ากระทรวงการคลังคาดการณ์นั้น เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจจะเข้าไปกระตุ้นไม่ทัน และความเสี่ยงที่มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะมีความรุนแรงขึ้น อาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัว จึงทำให้ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ต่ำกว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณ 3.16 แสนล้านบาท เป็นมาตรการที่เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เริ่มตั้งแต่ 1. เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร เนื่องจากกำลังซื้อของเกษตรตกต่ำ ราคาพืชผลต่ำ 2. ไปช่วยระดับเศรษฐกิจฐานรากจะได้เข้าไปซื้อของทันทีในต่างจังหวัด 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยการมอบเงินให้กับนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน 4. ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า เพื่อให้นักท่องต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากหวังให้การบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะช่วยฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ SMEs ด้วย

หลังจากที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจมีสภาพคล่องแล้ว ในบริบทต่อไปรัฐบาลจึงเติมสภาพคล่องผ่านเกษตรกรโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่าน SMEs โดยกองทุนส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผ่านอสังหาริมทรัพย์ใน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และผ่านสินเชื่อทั่วไปโดยธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเข้ามาร่วมดูแลเติมสภาพคล่อง เพื่อนำไปลงทุนต่อ

“ดังนั้นจึงถือว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้คนมีรายได้และเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น นักท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจมีสภาพคล่องและรายได้มากขึ้น ต้นทุนธุรกิจลดลงจากภาระอัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้สถานการณ์ของ SMEs ไทยขยับปรับดีขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากการดูแลในส่วนของการกระตุ้นการบริโภคในประเทศแล้ว หน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องดูแลการแข็งค่าของเงินบาทด้วย จะต้องประครองการเคลื่อนตัวของเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 30.7-30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวและการส่งออก และควรจะมีนโยบายเฉพาะกิจมากำกับดูแลในส่วนนี้อีกครั้ง ซึ่งหน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับปัญหาค่าเงินบาทเป็นปัญหาที่มาจากโครงสร้างของไทย เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาจากการค้าเกินดุล และมีการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นจะปรับให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จำเป็นที่จะต้องแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์ต่ำกว่าปกติในการส่งออก แต่ในประเทศไทยก็ยังกังวลในเรื่องของการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินตามข้อกล่าวหาที่สหรัฐฯ อาจกล่าวหาได้ ดังนั้นจะต้องทำด้วยความเหมาะสม อย่างเช่น การส่งสัญญาณด้วยวาจา การดูเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ในประเทศ พยายามที่จะกำหนดให้ไทยพักเงินดอลลาร์เพื่อได้ดอกเบี้ยที่มากขึ้น เป็นต้น ส่วนในโครงสร้างระยะยาว อาจจะหาแนวทางให้เอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐจะต้องเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น คือการนำพืชเกษตรไปแปรรูป อย่างเช่น กระทรวงคมนาคมจะนำยางพาราไปทำถนน กระทรวงพลังงานใช้ปาล์มไปปั่นไฟ เป็นต้น มาตรการเหล่านี้จะต้องทำควบคู่กัน เนื่องจากจะส่งเสริมโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในด้านของการเร่งทำโปรเจ็กต์อย่างต่อเนื่อง และหากทำได้ จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงินงบประมาณตัวเองที่มีระดับถึง 1 แสนล้านบาทขึ้นไป ไปพัฒนาการจ้างงาน และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงอย่างไร