วอน คปภ.แก้กม.หนุนบลจ. ขายกองทุนพ่วงเบี้ยสุขภาพ

บลจ.ซีไอเอ็มบีเผยหลายค่ายจับตา เทรนด์ตั้ง “กองทุนพ่วงประกันสุขภาพ” ได้รับ 2 เด้ง ทั้งผลตอบแทน-ค่ารักษาหลังเกษียณ หนุนนักลงทุนจัดสรรเงินจ่ายเบี้ยราคาไม่แพง ชี้ทำยากติดกฎ คปภ. “กี่เดช” ระบุฮ่องกงมีจัดตั้งกองทุนแนวนี้

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจรูปแบบ “กองทุนรวมพ่วงประกันสุขภาพ” เนื่องจากกองทุนนี้จะมีทั้งเงินสะสมในกองทุนสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ และยังสามารถตอบโจทย์ “ค่ารักษาพยาบาล” หลังวัยเกษียณด้วย โดยผู้ลงทุนกองทุนประเภทนี้จะมีค่าเบี้ยประกันสุขภาพไม่สูงนัก ซึ่งรูปแบบการจัดตั้งกองทุนพ่วงประกันสุขภาพ จะต้องเป็นความร่วมมือเชิงพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง บลจ.กับบริษัทประกันภัย

“เท่าที่ได้พูดคุยกันในหลาย ๆ บลจ.ต่างก็มีความสนใจทำกองทุนพ่วงประกันสุขภาพกันมาก เพราะเห็นว่าปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือ ได้เงินก้อนมา แต่ไม่สามารถแบ่งจัดการเพื่อการเกษียณได้ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ระหว่างทำงานมีประกันกลุ่ม แต่หลังเกษียณแล้ว เมื่อคิดจะทำประกันสุขภาพ เบี้ยประกันในช่วงอายุหลังเกษียณจะแพงกว่าการซื้อในช่วงอายุก่อนเกษียณ จึงเกิดแนวความคิดในการทำกองทุนรวมพ่วงประกันสุขภาพ” นายวินกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาจะพบแต่ทางด้านประกันชีวิต เสนอขายแบบประกันควบการลงทุน หรือยูนิตลิงก์ ซึ่งจะเป็นการนำเบี้ยประกันมาลงทุนซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม จะมีความแตกต่างกับกองทุนพ่วงประกันสุขภาพที่จะใช้กองทุนเป็นตัวหลัก เงินส่วนหนึ่งจะจ่ายเป็นเบี้ยประกันล่วงหน้าไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้นจะได้ 2 อย่าง คือ มีผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุน และมีประกันสุขภาพหลังเกษียณ

“ไอเดียทำกองทุนพ่วงประกัน เช่น อายุ 50 ปีกว่า ๆ เริ่มเอาเงินเข้ามาสะสมในกองทุนนี้ โดยเงินสะสมส่วนใหญ่จะเอาไปสร้างกองทุน และอีกส่วนจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ซึ่งอาจสะสมยาว 5-10 ปี เมื่อจบที่อายุ 60 ปี ตัวเงินทั้ง 2 ก้อนจะทำงานคนละอย่างกัน ฝั่งกองทุนจะจ่ายคืนเราทุกเดือนตามดอกผลที่ได้จากกองทุน ซึ่งจะค้ำประกันไม่ได้ว่าได้เท่าไร เหมือนแบบประกันบำนาญ ส่วนเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปล่วงหน้าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตอนหลังอายุ 60 ปี เช่น ยามป่วย จะใช้วงเงินประกันนี้ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ อาทิ วงเงินรักษาพยาบาลไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น” นายวินกล่าว

สำหรับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวนี้ นายวินกล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังติดเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ระบุว่า หากมีการจ่ายเบี้ยประกันภัยแล้ว ความคุ้มครองจะต้องมีผลในทันที ดังนั้นคงต้องให้ทาง คปภ.มีการพิจารณาแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก่อน

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า เรื่องกองทุนรวมพ่วงประกันสุขภาพ น่าจะเป็นความร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิต เพราะจากรูปแบบที่เป็นระยะยาวมากกว่า 1 ปี อาจต้องมีส่วนรวมของประกันชีวิตเข้าไป

“ผมได้ยินว่าในฮ่องกงจะมีกองทุนที่รวมประกันสุขภาพ ในตอนนี้เราก็จะเห็นเทรนด์ด้านการเงินที่มีลูกเล่นมากขึ้นอยู่ เช่น ตราสารทางการเงินที่มีประกันสุขภาพ และประกันวินาศภัย ซึ่งมาเจาะตลาดมากกว่าประกันภัยรถยนต์ บ้าน และประกันทั่ว ๆ ไป” นายกี่เดชกล่าว