ตลาดชะลอการซื้อขาย จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดงานสัมมนาที่ Jackson Hole

(แฟ้มภาพ)เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้นสัปดาห์ประธานเฟดสาขาบอสตัน เปิดเผยว่า ตนไม่สนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา และเศรษฐกิจสหรัฐเองก็ยังอยู่ในระดับทีี่ไม่น่าเป็นห่วง จึงเห็นควรว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยถ้อยแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่เฟดมีมติ 8-2 เสียงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ระหว่างสัปดาห์ปรับตัวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขาย เพื่อรอดูถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในงานสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ๊กสัน โฮลล์ รัฐไวโอมิง ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดว่านายเจอโรม พาวเวล จะส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน

ขณะที่ล่าสุด Fed Watch Tool โดย CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงถึง 95% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในช่วงวันที่ 17-18 กันยายนนี้ นอกจากนั้นในวันพุธ (21/8) มีการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดในครั้งล่าสุดว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องร่วมกับนายพาวเวลว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการที่เฟดกำลังดำเนินการอยู่เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ และกล่าวด้วยว่า การปรับลดดอกเบี้ยเป็นการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและกระตุ้นเงินเฟ้อ และเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ต่อเป้าหมายทั้งหมดของเฟด สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตประจำเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 119 เดือนจากระดับ 50.4 ในเดือนกรกฎาคม บ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552

สำหรับปัจจัยในประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2562 ที่ 2.3% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.1-2.5% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬากล่าวในวันพุธ (21/8) ว่าได้ปรับลดประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 39-39.8 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 40.2 ล้านคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัว ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยใช้เงินมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอการท่องเที่ยวไทยออกไป และหันไปเที่ยวที่ประเทศอื่นแทน ซึ่งยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์จากปัจจัยภายในและนอกอย่างใกล้ชิดต่อไป ในส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.722-30.885 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 30.72/74 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (19/8) ที่ระดับ 1.1093/95 ดอลลาร์/ยูโร ทรงตัวเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 1.1090/92 ดอลลาร์/ยูโร ระหว่างสัปดาห์มีแหล่งข่าวของเยอรมนีเปิดเผยว่า รัฐบาลผสมของเยอรมนีเต็มใจที่จะระงับการใช้กฎงบประมาณสมดุล และจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจของเยอรมนี และหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ทางฝั่งอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษแถลงเมื่อวันอังคาร (20/8) ว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของอังกฤษจะคว่ำบาตรการประชุมส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป (EU) โดยระบุว่า บรรดารัฐมนตรีจะเข้าร่วมเฉพาะการประชุมสุดยอด และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอังกฤษ เช่น ประเด็นความมั่นคง ส่วนการประชุมที่เหลือจะถูกยกเลิก ซึ่งมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษเป็นการส่งสัญญาณว่าอังกฤษมีความจริงจังในการแยกตัวออกจาก EU ในวันที่ 31 ตุลาคม แม้จะไม่มีการทำข้อตกลงก็ตาม โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เรียกร้องให้สหภาพยุดรป (EU) ทำการเจรจาครั้งใหม่เกี่ยวกับข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป รวมทั้งให้ EU ยกเลิกนโยบาย BACKSTOP สำหรับชายแดนไอร์แลนด์ เนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ นายจอห์นสัน ได้ส่งจดหมายแจ้งต่อนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรปว่า นโยบาย BACKSTOP หรือพรมแดนที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากรบนเกาะไอร์แลนด์ สร้างความเสี่ยงที่จะทำลายสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้ นายจอห์นสันยังเชื่อว่า หากยกเลิกนโยบายดังกล่าวจะทำให้ข้อตกลงเบรกซิทสามารถผ่านการอนุมัติของรัฐสภาอังกฤษได้ อย่างไรก็ดี นายทัสก์ กล่าวปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายจอห์นสันที่ต้องการเปิดเจรจาครั้งใหม่เกี่ยวกับข้อตกลงเบรกซิท รวมทั้งระบุว่า นายจอห์นสัน ไม่ได้เสนอทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ที่จะมาแทนนโยบาย BACKSTOP นอกจากนี้ทางฝั่งอิตาลี นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศลาออก หลังจากพรรคลีกซึ่งเป็นพรรครัฐบาลตัดสินใจยื่นมติไม่ไว้วางใจพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนรอดูท่าทีจากประธานเฟดในวันศุกร์นี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1066-1.1113 ดอลลาร์/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 1.1068/70 ดอลลาร์/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (19/8) ที่ระดับ 106.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 106.38/40 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวในกรอบจำกัด โดยมีแรงเทขายลงเล็กน้อยภายหลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลสหรัฐจะขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีของจีน สามารถซื้อสินค้าจากบริษัทสหรัฐได้อีก 90 วัน เพื่อให้หัวเว่ยสามารถให้บริการต่อลูกค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกให้นักลงทุน อย่างไรก็ดี นักลงทุนจับตาดูเฟดในวันศุกร์นี้เพื่อหาทิศทางของดอกเบี้ย ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในระหว่าง 106.03-106.70
เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 106.65/67 เยน/ดอลลาร์