ล้วงลูกเงินท้องถิ่น 3 แสนล้าน มหาดไทยปฎิวัติเบิกจ่าย “อบจ.-อบต.”

ปฏิวัติการจัดทำงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ อปท.ยื่นคำของบฯอุดหนุน 3 แสนล้านผ่านมหาดไทย ส่งตรงสำนักงบฯ เปิดช่องรัฐเช็กเงินในกระเป๋า นำร่องใช้กฎเหล็กใหม่กับ “อบจ.-กทม.-เมืองพัทยา” ปีนี้ทันที ต้องแจงยิบรายรับ-รายจ่าย ก่อนถึงคิวเทศบาล กับ อบต. อ้างเม็ดเงินลงถึงท้องถิ่นได้เร็ว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นหวั่นตรวจสอบยาก ทำล่าช้า อบต. 7.8 แห่งต้องวิ่งรอกชี้แจง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายในส่วนของเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยื่นคำขอตั้งงบฯต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ถือเป็นการปฏิวัติระบบการจัดทำงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของ อปท.ทั่วประเทศ 7,852 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 2,442 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,332 แห่ง รวมทั้ง อปท.รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กับเมืองพัทยา เป็นยื่นคำของบฯกับสำนักงบประมาณโดยตรง จากปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นผู้ยื่นคำขอ

มท.รวบอำนาจเช็กเงินท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระที่ 1 จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 ต.ค. 2562 และวาระที่ 2-3 ต้นเดือน ม.ค. 2563 และเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลางเดือน ม.ค. 2563

ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยให้ อปท.สามารถจัดทำคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณได้เอง แต่ต้องผ่านการให้ความเห็นประกอบคำขอ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยด้วย

เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง (11 ธ.ค. 2561)

โดยเริ่มจาก อบจ.ทั้ง 76 แห่ง ปี 2563 ที่ให้ยื่นคำของบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ ส่วนเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 179 แห่ง จะเริ่มในปี 2564 เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง เริ่มปี 2565 และ อบต.รวม 5,332 แห่ง เริ่มปี 2566

ของบฯอุดหนุน 2.7 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำของบประมาณปี 2563 ของ สถ. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นงบฯของกรม จำนวน 3,529.4781 ล้านบาท แบ่งเป็น งบฯบุคลากร 1,954.5538 ล้านบาท งบฯดำเนินการ 1,308.8084 ล้านบาท งบฯลงทุน 264.1159 ล้านบาท งบฯรายจ่ายอื่น 2.0000 ล้านบาท

ส่วนที่สองเป็น งบฯอุดหนุนให้แก่ อปท. 279,438.8267 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุนทั่วไป 227,927.5538 ล้านบาท เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 51,511.6457 ล้านบาท

และยังมีการเสนอคำของบประมาณโครงการสำคัญ (flagship project) วงเงิน 8,204.9356 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ด้าน 1.การจัดการศึกษา วงเงิน 217,4131 ล้านบาท 2.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของ อปท. วงเงิน 101.6240 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการขยะของ อปท. วงเงิน 1,617.9750 ล้านบาท 4.การบริหารจัดการน้ำของ อปท. วงเงิน 3,573.8411 ล้านบาท และ 5.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของ อปท. วงเงิน 2,697.0824 ล้านบาท

ปี’62 อปท.ได้งบ 2.5 แสนล้าน

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 อบจ. เทศบาล และ อบต.ได้รับเงินอุดหนุน 241,259.4 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับเงินอุดหนุน 253,123.9 ล้านบาท ส่วน กทม. ปี 2561 ได้รับเงินอุดหนุน 20,895.1 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับ 21,919.0 ล้านบาท และเมืองพัทยา ปี 2561 ได้รับเงินอุดหนุน 1,767.5 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับ 1,857.1 ล้านบาท คาดว่าคำขอในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท

ขณะที่เทศบาล และ อบต.ยังต้องยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ สถ. โดยเสนอตั้งงบประมาณผ่านท้องถิ่นจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด ตามเดิม

ลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ เกณฑ์การขอโครงการของ อปท.ในงบประมาณปี 2563 ต้องมีองค์ประกอบ อาทิ จะต้องน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบความคิด

สั่งแจงรายละเอียดถี่ยิบ

โดยแผนงานโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารท้องถิ่น ต้องแสดงวัตถุประสงค์ ความจำเป็น ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ กรอบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง รายงานเกี่ยวกับสถานะและแผนการใช้จ่ายนอกงบประมาณ

กรณีรายการผูกพันใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ให้ยื่นคำของบประมาณรายจ่าย เฉพาะรายการที่ ครม.อนุมัติหลักการไว้ ตามนัยมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ ภารกิจที่ยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนาภาค เมือง จังหวัด/กลุ่มจังหวัด และ อปท.

อธิบดี สถ.ไม่เห็นข้อดี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อดี และเป็นห่วงว่าแนวทางนี้จะเพิ่มภาระให้สำนักงบประมาณ เพราะขั้นตอนการเสนองบฯ จากเดิม อปท.ตั้งแผนงานงบประมาณเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นเห็นชอบ ก็จะส่งไปยังอำเภอ จังหวัด และมาสู่ สถ. และกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง แล้วจึงเสนอไปที่สำนักงบประมาณ โดย สถ.จะเป็นผู้ชี้แจง

อปท.แจงสภา ทำงบฯล่าช้า

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนการของบประมาณโดยให้ อปท.เสนอโดยตรงไปยังสำนักงบประมาณ ไม่รู้ว่าสำนักงบประมาณจะมีคน หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงไปตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ อปท.เสนอเข้ามาหรือไม่ อีกทั้งเมื่อ อปท.กลายเป็นหน่วยงานที่เสนอของบประมาณเสียเอง จะต้องไปชี้แจงทั้งที่สำนักงบประมาณ และเมื่อกฎหมายงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภา อปท.ก็ต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่สภาผู้แทนราษฎรด้วย จึงยังไม่เห็นข้อดีของแนวปฏิบัติใหม่นี้

“แม้สำนักงบฯจะอ้างถึงสาเหตุที่ปรับเปลี่ยนการของบฯ โดยให้เหตุผลเรื่องความรวดเร็วในการเบิกจ่ายงบฯของ อปท. แต่มองว่ากลับทำให้การพิจารณางบฯรายจ่ายล่าช้าขึ้น เพราะหน่วยงานของบฯจะเพิ่มขึ้นถึง 7,850 หน่วยงาน”

หลุดมือ สถ.ตรวจสอบยาก

อย่างไรก็ตาม ไม่นานน่าจะเห็นผลว่าเป็นอย่างไร เพราะการให้ อปท.เสนอของบฯปี 2563 โดยตรง เริ่มจาก อบจ. 76 แห่งก่อน ยังไม่ค่อยมีปัญหามาก แต่เมื่อ อปท.ทั้งหมด 7,850 แห่งของบฯ โดยตรงได้ น่าจะมีปัญหาตามมา เพราะ สถ.ก็ไม่สามารถไปช่วยตรวจสอบได้ เพราะไม่ได้เป็นองค์กรที่กำกับงบประมาณท้องถิ่นอีกต่อไป หากเข้าไปตรวจสอบอาจมี อปท.ร้องเรียนได้

ชี้เพื่อความรวดเร็ว

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สาเหตุที่ปรับปรุงกฎหมายวิธีการงบประมาณให้ท้องถิ่นขอจัดสรรโดยตรง เป็นไปตามข้อคิดเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มองว่าท้องถิ่นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณให้อยู่แล้ว แม้จะกระจายอำนาจ แต่ยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลส่วนกลางอยู่ ซึ่ง สนช.เห็นควรให้ขอรับการจัดสรรโดยตรงได้เลย เวลาที่สำนักงบฯโอนเงินให้ ก็จะโอนตรงไปที่ อบจ. อบต.ทำให้เงินลงไปสู่ท้องถิ่นได้เร็วขึ้น

“อปท.มีกว่า 7,800 แห่ง ถ้าจะขอมาทีเดียวอาจยังไม่พร้อม โดยสำนักงบฯต้องประเมินว่า อปท.พร้อมแค่ไหน เริ่มจาก อบจ.ก่อน เพราะระบบตอนนี้รองรับไม่ได้ถึงกว่า 7,800 แห่ง รองรับ 400 กรม งานก็ค่อนข้างโหลดอยู่แล้ว แต่ปีหน้าจะให้เทศบาลอีกราว 2,000 แห่ง ขอจัดสรรตรงเข้ามาได้”

จี้ท้องถิ่นแบกระเป๋า

ส่วนนี้จะเป็นเฉพาะงบฯอุดหนุนให้ท้องถิ่นปีละ 2-3 แสนล้านบาท หรือราว 30% ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด โดยโครงสร้างงบฯของท้องถิ่นจะมีรายได้ 3 ส่วน คือ รายได้ที่จัดเก็บเอง รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้และแบ่งให้ และเงินอุดหนุนจากสำนักงบประมาณ

“เมื่อมีการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นก็ควรต้องหารายได้เอง แต่ถ้ายังต้องให้รัฐอุดหนุนงบประมาณ ก็ต้องผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งก็ขึ้นกับฝ่ายนิติบัญญัติว่าจะให้เท่าไหร่ และการที่ท้องถิ่นขอจัดสรรตรงเข้ามา เขาก็ต้องแสดงฐานะของเขาด้วย เช่น มีเงินสะสมอยู่เท่าไหร่ ใช้จ่ายอย่างไร ต้องค่อย ๆ ปรับตัวกันไป”

แจงดึงเงิน อปท. รัฐไม่ได้ถังแตก


ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เงินสะสมของ อปท.ที่จะนำมาทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานในท้องถิ่นนั้น ได้หารือกับ รมว.มหาดไทย ว่าหากจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์จะทำได้แค่ไหน ต้องสรุปตัวเลขออกมาให้ชัดเจนก่อน ยืนยันว่าการดึงเงินส่วนนี้มาใช้ ไม่ใช่รัฐบาลถังแตกอย่างแน่นอน