ด่วน! ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว’เซ็นทรัล วิลเล็จ’ ให้ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางเข้า-ออก

แฟ้มภาพ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562   ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิด กรณี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กับพวก ได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราวจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน แต่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2562 แต่ ทอท. ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการและไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางดังกล่าว เป็นเหตุให้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กับพวก ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ทั้งนี้ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ดําเนินการก่อสร้างโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 154871 และโฉนดที่ดินเลขที่ 154873ตําบลบางโฉลง อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 (บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) ได้รับอนุญาตให้ทําทางเชื่อม ในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราว เพื่อทําทางเข้าออกและใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อประกอบกิจการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต แล้ว ตามหนังสือที่ กค 06074/ ส.3/1621 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2562

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ผู้ถูกฟ้องคดี (บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)) ได้ดําเนินการตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ และไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ ทางดังกล่าวผ่านเข้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ฯ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีตามข้อ 2 ของระเบียบกระทรวงการคลังและ กรมการบินพาณิชย์ ว่าด้วยการให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ใช้ประโยชน์ ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับ สนามบินสุวรรณภูมิ พ.ศ. 2545 และข้อ 5 ประกอบกับข้อ 10 ของข้อตกลงระหว่าง ผู้ถูกฟ้องคดีกับกรมการบินพาณิชย์ ลงวันที่ 30 กันยายน 2545 ก็ตาม

แต่เรื่องสถานะความเป็นที่ราชพัสดุของที่ดินบริเวณพิพาทยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะยื่นสําเนา หนังสือกรมธนารักษ์ ด่วนที่สุด ที่ กค 030515039 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ราชพัสดุบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่า กรมท่าอากาศยาน (กรมการบินพลเรือน เดิม) ได้จัดซื้อจากราษฎรด้วยเงินงบประมาณ ในช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2513 เพื่อใช้ในราชการของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งอยู่ในความครอบครอง ของกรมท่าอากาศยาน และได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้จํานวน 26 ทะเบียน รวมเนื้อที่ ประมาณ 184 – 13 – 26 ไร่

ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นทางเข้า – ออก ของสนามบิน สุวรรณภูมิด้านทิศใต้เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี ดังนั้น กรมท่าอากาศยานในฐานะผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ และ ทอท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์แทน ทั้งสองหน่วยงานจึงมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบํารุงรักษาแนวเขต ที่ราชพัสดุร่วมกัน

และกรณีที่มีการรุกล้ําที่ราชพัสดุหรือมีการกระทําที่ผิดกฎหมายจะต้อง พิจารณาดําเนินการกับผู้กระทําความผิดให้เป็นไปตามกรอบอํานาจหน้าที่ที่กฎหมายกําหนดไว้ก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ บริเวณดังกล่าวเป็นเขตทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง และผู้ถูกฟ้องคดีเองก็เคย มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ขออนุญาตกรมทางหลวงเพื่อก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก

และเมื่อพิจารณาข้อกําหนดและข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเพียงหน่วยงานที่ได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ ในความครอบครองและควบคุมดูแลของกรมการบินพาณิชย์ และมีหน้าที่ดูแลและระวังรักษา แนวเขตที่ราชพัสดุที่ได้รับมอบมิให้บุคคลใดมารบกวนการครอบครองหรือใช้สิทธิ ครอบครองโดยปรปักษ์เท่านั้น มิได้มีอํานาจอื่นเกี่ยวกับที่ราชพัสดุดังกล่าว

อีกทั้งการที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับอนุญาตให้ทําทางเชื่อมและใช้ทางเชื่อมดังกล่าวเป็นทางเข้าออกและ การใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็มิได้มีลักษณะเป็นการรบกวนการครอบครองหรือใช้สิทธิ ครอบครองโดยปรปักษ์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ดังนั้น จึงถือว่าคําฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีมูล และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้ถ้อยคํายืนยันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีอํานาจที่จะกระทําการตามฟ้อง แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะกระทําซ้ำหรือกระทําการดังกล่าวต่อไป

และปรากฏข้อเท็จจริง ด้วยว่าการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวมีผลทําให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่สามารถประกอบกิจการ ได้ตามปกติ อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจาก การกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีด้วย และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะอ้างว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้ทางเชื่อมดังกล่าว จะทําให้ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มีความเสียหายทั้งด้านการเงิน ด้านเศรษฐกิจของประเทศ และความเสียหาย ด้านการให้บริการสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แต่ศาลเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น และเห็นได้ว่า ในขณะนี้ การให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองใช้ที่ดินบริเวณพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อประกอบกิจการโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต มิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลจะมีคําสั่งกําหนดมาตรการหรือวิธีการ คุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามคําขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่เป็นการเสียหาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดี

“จึงมีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากเขตทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดําเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ ประโยชน์ใด ๆ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และการดําเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง กับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น”

คลิกอ่านเพิ่มทเติมที่นี่… เซ็นทรัล วิลเลจ เปิดแน่พรุ่งนี้! ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองให้เปิดทางเข้า-ออก