คลังไฟเขียว “เคทีซี” ลุยฐานราก หนุนไลเซนส์ “พิโก-นาโน-พีโลน” ยกแผง

คลังไฟเขียว “เคทีซี” รุกปล่อยกู้ฐานราก หวังช่วยคุมเกมแข่งขันดอกเบี้ยในตลาด ล่าสุดให้ไลเซนส์ “เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ)” แล้ว ขณะที่อีก 4 บริษัทพิโกไฟแนนซ์อยู่ระหว่างตรวจเอกสาร เผยยังมีไลเซนส์ “นาโนไฟแนนซ์-พีโลน” ส่งให้ขุนคลังไฟเขียวด้วย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี ได้ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เข้ามานั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ให้ใบอนุญาตในส่วนบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) จำกัดไปแล้ว ซึ่งเป็นไลเซนส์ปล่อยสินเชื่อประเภทพิโกพลัส โดยผู้ประกอบการได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา

“เคทีซีมีความพร้อม เพราะถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีมาตรฐาน ซึ่งเราก็อยากให้มีผู้เล่นแบบนี้ลงมาเล่นด้วยอีก เพราะจะได้เกิดการแข่งขันกำหนดดอกเบี้ยในตลาด โดยอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในตลาดต่ำลง ไม่ต้องถึง 36% ก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชน” นายลวรณกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากได้ไลเซนส์ในส่วนบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) ไปแล้ว ขณะนี้ทางเคทีซีได้ยื่นขอไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์ในอีก 4 จังหวัดเข้ามาให้กระทรวงการคลังอนุญาตด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเอกสาร ก่อนจะเสนอ รมว.คลังลงนามอนุญาตต่อไป ได้แก่ 1.บริษัท เคทีซี พิโก (ชลบุรี) 2.บริษัท เคทีซี พิโก (ปทุมธานี) 3.บริษัท เคทีซีพิโก (สมุทรปราการ) และ 4.บริษัท เคทีซี พิโก (สมุทรสาคร) โดยทั้ง 4 บริษัทมีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 10 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงการจัดตั้งบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และการเข้าร่วมทุนในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดย บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) และธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่รวม 4 บริษัท เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกพลัส ซึ่งเป็นการทำธุรกิจให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท

โดยเคทีซีถือหุ้นในแต่ละบริษัทในสัดส่วน 75.0497 ของทุนจดทะเบียน และธนาคารกรุงไทยถือหุ้นในสัดส่วน 24.95% ของทุนจดทะเบียนบริษัท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้เสนอเรื่องการขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใต้ชื่อบริษัท เคทีซี นาโน จำกัด และการขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ของทางเคทีซีมาให้ รมว.คลังพิจารณาแล้วเช่นกัน ซึ่งเมื่อ รมว.คลังลงนามอนุญาตแล้ว ทาง ธปท.จะแจ้งผู้ประกอบการต่อไป

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ว่านอกจากการใช้กลไกจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) แล้ว ทางภาครัฐยังได้ส่งเสริมให้ธนาคารกรุงไทยเข้าสู่ตลาดในกลุ่มหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยการดำเนินธุรกิจใหม่ 3 ธุรกิจ ได้แก่ พิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกัน (จำนำทะเบียน) ซึ่งต้องทำภายใต้ไลเซนส์พีโลน