“เกาหลีใต้” บุกเมียนมา แผ่อิทธิพลสู่เป้า TOP 3

ทริปเยือน “เมียนมา” ของประธานาธิบดี “มุน แจ อิน” เกาหลีใต้ เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ทั้งหมด 5 ฉบับ ซึ่งมี 2 เมกะโปรเจ็กต์ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพาน Dala หรือสะพานมิตรภาพเกาหลีใต้-เมียนมา และ “นิคมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้-เมียนมา” (KMIC : Korea-Myanmar Industrial Complex) ในกรุงย่างกุ้ง

นายคิม จุนอู ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โคเรีย แลนด์ แอนด์ เฮาส์ซิ่ง (LH) ให้สัมภาษณ์กับ “เมียนมาไทมส์” ว่า โครงการแรกที่จะเริ่มก่อสร้าง คือ “นิคมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้-เมียนมา” (KMIC) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปีหน้าและแล้วเสร็จในปี 2024 บนพื้นที่ 224 เฮกตาร์ (553 เอเคอร์) หรือประมาณ 1,400 ไร่ ด้วยมูลค่าลงทุน 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 ประเทศ ในสัดส่วน 60-40 โดยทางบริษัทรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนหลัก

ขณะที่กระทรวงการก่อสร้างของเมียนมาเปิดเผยว่า ได้จัดสรรงบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในนิคม KMIC รวมไปถึงการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมไปยังกรุงย่างกุ้ง ซึ่งห่างออกไปประมาณ 10 กิโลมตร

ความน่าสนใจของนิคมอุตสาหกรรม KMIC นายคิม จุนอู กล่าวว่า จะเป็นการช่วยปลดล็อกศักยภาพของเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะมีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่นักธุรกิจโสมขาวเท่านั้น ขณะนี้มีนักลงทุนจากประเทศอาเซียน จีน และอินเดีย เริ่มแสดงความสนใจในโครงการนี้

ขณะเดียวกัน นายยุน ชาง-ฮีม ประธานของบริษัท LH ประเมินว่า โครงการ KMIC จะสามารถดึงดูดบริษัทกว่า 200 แห่งทั่วโลกเข้ามาลงทุนได้ และที่สำคัญ จะช่วยสร้างงานให้กับคนเมียนมาได้มากถึง 100,000 ตำแหน่ง และจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งนิคมแห่งนี้จะครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม โลจิสติกส์ และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ

นอกจากนี้ ประธานของ LH ยังกล่าวอีกว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในเมียนมาในปัจจุบันที่เริ่มรับรู้และให้ความสนใจในสินค้าแบรนด์เกาหลีใต้ จากอานิสงส์ของภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีที่ขยายตัวมากขึ้น ดังนั้น ภายในนิคมอุตสาหกรรม KMIC จะมีพื้นที่บางส่วนที่จัดสรรไว้สำหรับสินค้าอุปโภค-บริโภคของเกาหลีใต้ด้วย

“ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนอันดับ 6 ของเมียนมา ซึ่งประเทศที่เข้ามาลงทุนมากสุดยังคงเป็น สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น รวมถึงไทย เรามองว่านักลงทุนเกาหลีใต้ขยับตัวเข้าสู่ตลาดเมียนมาช้า เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย โดยข้อมูลของกระทรวงการลงทุนและบริหารของเมียนมาระบุว่า ตั้งแต่ปี 1988 ถึงเดือน ส.ค.ปีนี้ เกาหลีใต้ลงทุนในเมียนมาทั้งหมด 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 178 โครงการ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโปรเจ็กต์เกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ”

โดย นายยุน ชาง-ฮีม กล่าวว่า ความร่วมมือทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ จะทำให้ “เกาหลีใต้” กลายมาเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ของเมียนมา ทั้งยังอ้างคำกล่าวของประธานาธิบดี มุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ระหว่างพบปะกับ “อู วิน มินห์” ประธานาธิบดีเมียนมา และ “ออง ซาน ซู จี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่ย้ำว่า มีเป้าหมายเพิ่มความร่วมมืออย่างครบด้านระหว่างกัน อีกทั้งต้องการมีส่วนทำให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัว ซึ่งระบุว่าเม็ดเงินการลงทุนในเมียนมาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกาหลีใต้สามารถเป็น “ท็อป 3” ของนักลงทุนในเมียนมาในอนาคต


นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แก่เมียนมา เช่น ขยายวงเงินกู้เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมา ในระยะ 5 ปี (ปี 2020-2024) และความร่วมมือระหว่างธนาคาร KB Kookmin ของเกาหลีใต้ กับรัฐบาลเมืองย่างกุ้ง สำหรับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ที่มีรายได้น้อยในเมียนมา เป็นต้น