นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าและหารือถึงแนวทางสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ว่า
ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหารือกับทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุนได้ 30% จากเดิม 23.75% ต่อปี ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ค.นี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป มาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ซึ่งนับเป็นมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในรูปแบบการประกันความเสี่ยง ภายใต้ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน
ซึ่งนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559-มิ.ย. 2560 การดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้า มีการอนุมัติค้ำประกันได้เพียง 17,000 ล้านบาท จากวงเงินค้ำประกันโครงการทั้งสิ้น 100,000 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี ทั้งยังคิดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี เป็นภาระต้นทุนของ SMEs ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้คล่องตัว ประกอบกับทางธนาคารพาณิชย์มองว่าหลักค้ำประกันเงินกู้ที่ 23.75% ก็เป็นความเสี่ยงมากเกินไป จึงต้องการให้ บสย.เพิ่มหลักค้ำประกันเป็น 30% ถือเป็นระดับที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันได้หารือกับกระทรวงการคลัง ถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันว่าจะทำได้หรือไม่ รวมทั้งหากเพิ่มหลักค้ำประกันเป็น 30% ซึ่งจะทำให้มีส่วนต่าง 7% คิดเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท จากวงเงินโครงการ 100,000 ล้านบาทนั้น จะให้หน่วยงานใดเข้ามาอุดหนุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น และเพื่อต้องการให้ทุกหน่วยงานเร่งระบายวงเงินค้ำประกันที่เหลือ 83,000 ล้านบาทให้หมดภายในปีนี้
นอกจากนี้ต้องการให้สรุปมาตรการสนับสนุน SMEs สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกโดยต้องให้ เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เน้นการส่งเสริมการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหรือเฮดจิ้ง เพราะปัจจุบันการสนับสนุนมักกระจุกตัวอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย( Exim Bang) ที่จำเป็นต้องหันมาเน้นส่งเสริมให้ SMEs ลงทุนในกลุ่ม CLMV ขณะที่ SMEs ก็จำเป็นที่เริ่มนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น
นายนิธศ มนุญพร กรรมการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า เตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อที่จะรับทราบเงื่อนไขต่างๆ ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลังก่อนนำเสนอครม.ภายในเดือนนี้ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบในเร็วๆนี้เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการเงินได้แก่ 1. ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก 2. จัดโควตาพอร์ตค้ำประกันให้แต่ละธนาคาร 3. เพิ่ม Max Claim จาก 23.75% เป็น 30% โดยจะต้องเร่งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 11 ก.ย. นี้ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม(METI) พร้อมด้วยสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น จะนำนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งรายใหญ่และ SMEs กว่า 500 บริษัทมาเยือนไทยซึ่งส่วนหนึ่งจะเข้าพบปะกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการหารือร่วมกับภาคเอกชนไทยที่จะร่วมมือใน 3 ด้านสำคัญได้แก่ 1. ความร่วมมือที่จะสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 2.ความร่วมมือพัฒนา SMEs ไทย-ญี่ปุ่น 3. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)