เอกชนหวังงบรัฐปี’63 ผ่านฉลุย หลังดัชนีเชื่อมั่นดิ่ง-ลงทุนชะลอ ปรับเป้ายอดผลิตรถยนต์เหลือ 2 ล้านคัน

เอกชนหวังงบประมาณรัฐปี63 ผ่านฉลุย หลังดัชนีความเชื่อมั่นดิ่ง การลงทุนชะลอ ปรับเป้ายอดการผลิตรถยนต์เหลือ 2 ล้านคัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสำรวจภาคเอกชนสมาชิก พบว่าในเดือน ก.ย. 2562 มีดัชนีความเชื่อมั่นลดลงมาอยู่ที่ 92.1 จากเดือน ส.ค. อยู่ที่ 92.8 นับว่าต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว สงครามการค่าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เงินบาทแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดที่ 30.76 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐฯ การชะลอการลงทุนภายในประเทศเอง รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอไปด้วยเช่นกัน และอุทกภัย

ขณะที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะประบตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 103.4 ซึ่งจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการชิมช้อปใช้ ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ที่จะเริ่มทยอยเห็นผล ให้เกิดการใช้จ่ายไปจนถึงปลายปี 2562

ทั้งนี้เอกชนยังคงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ให้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศในตลาดที่มีศักยภาพ โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อมาจูงใจ 2.รัฐต้องเร่งสนับสนุนสินค้า Made in Thailand ส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามเรื่องของงบประมาณภาครัฐ เอกชนยังหวังที่จะให้เร่งนำออกมาใช้ หากล่าช้าในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. 2563 ถือว่าช้าเกินไป เพราะแท้จริงจะต้องเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. ขณะเดียวกันงบประมาณจะต้องนำมาใช้ให้ตรงกับตลาดเพื่อต่อยอดได้จริงๆ และจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งเอกชนก็หวังจะให้งบประมาณ 2563 ผ่านให้เร็วที่สุด

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมาเทียบช่วงเดียวกับปีก่อนลดลง 7.49% อยู่ที่ 169,4747 คัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 8.24% อยู่ที่ 91,119 คัน ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 6.59% อยู่ที่ 78,355 คัน

ส่วนยอดผลิตรถยนต์รวมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.-ก.ย.2562) ลดลง 1.96% อยู่ที่ 1,572,627 คัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 5.72% อยู่ที่ 814,953 คัน ขณะที่ยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 2.42% อยู่ที่ 757,674 คัน

ขณะเดียวกันปี 2562 ปรับเป้าการผลิตรถยนต์ลงเหลือ 2,000,000 คัน จาก 2,150,000 คัน โดยเป็นเป้าผลิตเพื่อส่งออก 1,000,000 คัน ผลิตเพื่อขายในประเทศ 1,000,000 คัน การลดลงดังกล่าวถึง 150,000 คันทำให้มูลค่าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หายไปกว่า 100,000 ล้านบาท

“หากตลาดรถยนต์ชะลอตัวลงในช่วงสั้นๆ คงไม่ถึงขั้นต้องเลิกจ้างงาน แต่อาจมีการปรับลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลาลงบ้าง ต้องติดตามภาคการท่องเที่ยวจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เศรษฐกิจดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้จากภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนกับภาครัฐ รวมถึงแนวโน้มค่าเงินบาท เหล่านี้เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์น่าจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า”