พาณิชย์แจงมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลี ยันรัฐบาลมีมาตรการดูแลการนำเข้าช่วยเกษตรกร

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวรายงานการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศว่า ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา มีการนำเข้า 3 ครั้ง จากยูเครน พร้อมระบุว่าการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลีถูกระงับตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันรัฐบาลนี้ยังไม่มีท่าทีพิจารณาแก้ไขให้กลับมาจัดเก็บภาษีดังเดิม การปล่อยให้มีการนำเข้าได้โดยอิสระ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเลือกใช้ข้าวสาลีมาเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์โดยไม่ต้องเสียภาษี และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรนั้น

กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่าประเทศไทยผูกพันภาษีนำเข้าสินค้าข้าวสาลี (พิกัด 1001) ภายใต้ WTO ตั้งแต่ ปี 2538 ไว้ที่ร้อยละ 27 ต่อมาในปี 2550 (มีผล 12 ก.ย.50) กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปฏิรูปภาษีศุลกากรให้เหลือร้อยละ 0 เนื่องจากสินค้าข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารคน และไม่มีปลูกในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ โดยขณะนั้นยังไม่มีการแยกพิกัดข้าวสาลีที่เป็นอาหารคนกับอาหารสัตว์ ซึ่งภายใต้พันธกรณี WTO ไทยไม่สามารถห้ามนำเข้าข้าวสาลีได้ แต่สามารถขึ้นภาษีได้ ไม่เกินร้อยละ 27 ตามที่ผูกพันไว้ แต่สำหรับคู่ค้าที่มี FTA (เช่น กับออสเตรเลีย) ประเทศไทยไม่สามารถปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าข้าวสาลีได้ แต่ละปีประเทศไทยมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 4.32 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 8.10 ล้านตัน ผู้ผลิตอาหารสัตว์จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงนำเข้าวัตถุดิบทดแทน อาทิ ข้าวสาลี โดยในช่วงที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกต่ำกว่าราคาข้าวโพดในประเทศ จึงมีการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลปัจจุบันได้มีมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในประเทศ ในอัตราส่วน 1 : 3 ส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวสาลีลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2559 (ม.ค. – ส.ค.) มีการนำเข้าข้าวสาลี 2.260 ล้านตัน ซึ่งในปี 2560 (ม.ค. – ส.ค.) มีการนำเข้าข้าวสาลีเพียง 0.957 ล้านตัน ลดลงถึงกว่า 1.3 ล้านตัน สำหรับประเด็นการนำเข้าจากยูเครน จากการสอบถามกรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้งว่า มีการนำเข้าในเดือน ก.ย. ทั้งเดือนจนถึงปัจจุบันเพียง จำนวน 45,000 ตัน

นอกจากนี้ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ให้มีการพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราอากรข้าวสาลีนำเข้าให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นภาษี โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และกุ้ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ผู้บริโภค และการส่งออกของประเทศไทย


อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับราคาข้าวโพด ปัจจุบัน (13 ก.ย. 60) จ.เพชรบูรณ์ รับซื้อข้าวโพดเมล็ด (ความชื้น 30%) ราคา 5.25 – 5.35 บาท/กก. ข้าวโพดเมล็ด (ความชื้น 14.5%) ราคา 7.00 – 7.15 บาท/กก. โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อเฉลี่ย(ความชื้น14.5%) ราคา 7.80-8.00 บาท/กก. ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลิต 2560/61 ซึ่งผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน ต.ค. 60