ดอลลาร์สหรัฐ ฟื้นตัวเนื่องจากมีความชัดเจนของแผนปฏิรูปภาษีมากขึ้น

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (13/9) ที่ระดับ 33.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ออกมากล่าวว่า เขามีความมั่นใจว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสามารถผลักดันมาตรการปฏิรูปภาษี ขณะที่จะมีการเปิดเผยกรอบเวลาในการปฏิรูปภาษีในสัปดาห์หน้า และการเปิดเผยกรอบเวลาการปฏิรูปภาษี จะสะท้อนถึงฉันทามติของผู้ร่างแผนปฏิรูปภาษีในสภาคองเกรส และรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยคณะกรรมการร่างแผนปฏิรูปภาษีจะรับเสียงตอบรับต่อแผนดังกล่าว และนำไปพิจารณาเพื่อเสนอร่างกฎหมายในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ (13/9) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองพุ่งขึ้น 9.9% ในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำสุดในปีนี้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี สำหรับเงินกู้วงเงินไม่เกิน 424,100 ดอลลาร์ ลดลงสู่ระดับ 4.03% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้

ในส่วนความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจไทยนั้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ไม่เห็นด้วยหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีแนวคิดในการปรับกรอบเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ เพราะปกติแล้วการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะทำเพียงแค่ปีละครั้ง ซึ่งเมื่อถึงสิ้นปี ธปท.ก็พร้อมรายงานให้กระทรวงการคลังทราบว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่หากไม่ได้ก็ต้องชี้แจงว่าเป็นเพราะเหตุใด โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กล่าวว่า การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น เพื่อเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปอย่างไร ซึ่งถ้าบางช่วงเงินเฟ้อสูง บ่งบอกว่าเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ธปท.ก็จะต้องเข้าไปดูแล หรือหากบางช่วงเงินเฟ้อต่ำ ก็แสดงว่าเศรษฐกิจยังโตไม่ถึงศักยภาพ ดังนั้นจะต้องดำเนินการและใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ธปท.มีเครื่องมือดูแลกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทั้งดอกเบี้ยนโยบาย ปริมาณเงินในระบบ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องทำอย่างไรให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ก็ต้องดูว่า ธปท.ทำหรือยัง ในส่วนของคลังได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพมาตลอด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.09-33.145 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (14/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1876/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (13/9) ที่ระดับ 1.1976/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนายฌอง คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) แถลงนโยบายและผลงานประจำปี (State of the Union) ต่อรัฐสภายุโรป ณ เมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศส (13/9) โดยระบุว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังปรับตัวดีขึ้นจากช่วงวิกฤต โดยได้รับแรงหนุนที่ดีและส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างสดใส ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องใช้เวลานี้เพื่อทำให้สิ่งที่เริ่มไว้นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์และระมัดระวังไม่ให้กระทบการเติบโตมากเกินไป ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปมีกำหนดการแถลงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อเสนอวาระการปฏิบัติหน้าที่ขณะที่ตนต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก 2 ปี โดยเขาจะพ้นตำแหน่งหลังประเทศอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเพียงไม่นาน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1866-1.1910 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1906/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (14/9) เปิดตลาดที่ระดับ 110.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (13/9) ที่ระดับ 110.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเนื่องจากความตึงเครียดของคาบสมุทรเกาหลีได้ผ่อนคลายขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 9 เดือน อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ราคาผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 แต่ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงไปไม่ถึงเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เนื่องจากค่าแรงยังคงขยายตัวอย่างจำกัด และภาคธุรกิจลังเลที่้จะผลักภาระต้นทุนไปให้กับผู้บริโภค เพราะเกรงว่าจะทำให้อุปสงค์ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของ BOJ นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ BOJ ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ามหาศาลก็ตาม ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.36-110.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (14/9) ดุลการค้าอียู ประจำเดือนกรกฎาคม (15/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.9/-1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ -2.6/-1.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ