เปิดปมภาษีที่ดินไม่สะเด็ดน้ำ คลังมึนข้อเสนอแก้เพียบ ยื้อเริ่มปี’62

กระทรวงการคลังผลักดันเสนอยกร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ผ่านมาราว ๆ 12 รัฐบาลแล้ว โดยในรัฐบาลปัจจุบันถือว่ามีความคืบหน้าไปได้มาก เพราะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าไปอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว

ทว่าการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย วาระที่ 2 ดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยมีการขยายระยะเวลาพิจารณาออกไปจากกำหนดเดิม 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

“วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง ยอมรับว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีผู้ทำหนังสือเข้ามามาก แต่ก็ยังเชื่อว่าจะจบในปี 2560 นี้ได้ โดยความตั้งใจของกระทรวงการคลัง ต้องการจะให้เริ่มจัดเก็บภาษีในปี 2562 แต่หากสิ้น ก.ย.แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก

“กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ผู้อำนวยการ สศค. บอกว่า ปัจจุบันทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายได้มอบหมายให้ สศค. ไปลงพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อดูปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ สำหรับอัตราที่คาดว่าจะใช้จัดเก็บภาษีที่ดินระยะเริ่มต้นในปี 2562 จะพยายามไม่ให้กระทบผู้เสียภาษี เมื่อเทียบกับอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ “ควรจะเสีย” ในปัจจุบัน

“วันนี้ภาษีโรงเรือนยังใช้ฐานราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ซึ่งจริง ๆ ควรจะปรับฐานขึ้นบ้าง แต่คงไม่ปรับให้กระโดดมาเป็นฐานปัจจุบันในทันที ฉะนั้นหลักการก็คือ ฐานใหม่อาจจะสูงกว่าเดิม แต่อัตราจะเก็บลดลง โดยการจัดเก็บตามกำหนดก็คือเริ่มปี 2562 ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย. เหมือนที่เก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบัน” นายกฤษฎากล่าว

ด้าน “สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่า หากจะมีการลดมูลค่าบ้านหลังแรกที่ได้รับยกเว้นภาษีเหลือ 20 ล้านบาท ก็เป็นหลักการที่กระทรวงการคลังยอมรับได้ เนื่องจากจะทำให้ขยายฐานภาษีได้กว้างขึ้น มีจำนวนคนเสียภาษีมากขึ้น แต่การที่กำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาท ก็กระทบคนแค่ไม่เกิน 1%

“อัตราที่คิดไว้จะเก็บต่ำอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าภาษีที่เพิ่งเริ่มต้นเก็บไม่ควรจะเยอะ แต่ก็ต้องไม่น้อยกว่ารายได้เดิมที่ท้องถิ่นเคยได้ ก็ต้องค่อย ๆ เพิ่มไป” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทาง สศค.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาแล้ว 2 รอบ เป็นเวลารวม 30 วัน (9-23 พ.ค., 29 พ.ค.-12 มิ.ย.) ปรากฏว่า มีผู้แสดงความเห็นเข้ามาอย่างหลากหลาย

โดยข้อคิดเห็นที่สำคัญ ในเรื่อง “อัตราภาษี” มีข้อเสนอแนะ อาทิ ให้กำหนดเพดานอัตราภาษีสำหรับที่ดินว่างเปล่าให้ “สูง” เนื่องจากจะช่วยลดการ “เก็งกำไร” ที่ดินของนายทุน แต่ควรกำหนดเพดานภาษีที่ดินประเภทนี้ให้ต่ำ และควรมี “ยกเว้น” จัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาทด้วย เพื่อคำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับที่ดินมรดกมา และต้องการเก็บไว้ให้ลูกหลาน

ส่วนกรณีที่ดินในโครงการนิคมอุตสาหกรรม เสนอว่า ควรกำหนดอัตราภาษีที่ดินเป็น “อัตราเดียว” (Flat Rate) ไม่ควรคำนวณแบบ “อัตราก้าวหน้า” (Progressive Rate) รวมถึงข้อเสนอที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินไม่ควรกำหนดอัตราภาษีไว้สูงมาก เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีแก่ประชาชน

สำหรับประเด็น “ฐานภาษี” มีข้อเสนอแนะว่า ฐานภาษีควรแบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ควรให้ใช้ “ค่ารายปี” ของอาคารและที่ดินเป็นฐานจัดเก็บ ส่วนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในประเภทอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรรม ควรใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ เป็นต้น และกรณีมีที่ดินหลายแปลงที่เป็น “เจ้าของเดียวกัน” และมี “อาณาเขตติดกัน” ควรคิดมูลค่าเป็น “รายแปลง” ไม่ควรนำมูลค่าที่ดินทุกแปลงมารวมกัน

ขณะที่ “การบรรเทาภาระภาษี” มีข้อเสนอ อาทิ ขอให้ระบุการบรรเทาภาระภาษีให้แก่อสังหาริมทรัพย์รอการขาย (NPA) ที่ได้มาจากการชำระหนี้ โดยจัดเก็บในอัตรา 0.05% ของฐานภาษี กับ NPA และทรัพย์ที่ได้มาจากการขายทอดตลาด เป็นเวลา 5 ปี ไว้ในตัวร่าง พ.ร.บ.ด้วย ขณะเดียวกันก็มีการขอให้ลดภาษีสำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรม ใน 2 กรณี 1) ลดภาษีให้ผู้พัฒนาโครงการที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินลง 90% และ 2) กรณีผู้ประกอบการนิคมถือกรรมสิทธิ์ ให้ลดภาษีลง 50% เป็นเวลา 5 ปี

พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอให้ยกเว้นภาษีให้กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และเกษตรกรรม ตามหลักการของ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ที่ยกเว้นภาษีให้ที่ดินที่มีขนาด 50 ตร.ว. ถึง 5 ไร่ด้วย

ส่วนประเด็นการกำหนด “ปีที่เริ่มจัดเก็บภาษี” นั้น มีผู้แสดงความเห็นเสนอแนะว่า “ไม่ควรเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2562 แต่ควรขยายระยะเวลาออกไปให้ประชาชนมีเวลาปรับตัว”

ความคิดเห็นที่หลากหลายนี้จะมีการเสนอไปที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ดังนั้น สุดท้ายแล้วคงต้องฝากความหวังไว้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะทำให้กฎหมายฉบับนี้ เกิดการ “ปฏิรูป” อย่างแท้จริงหรือไม่

ต้องติดตาม !!