ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ จับตามาตรการโต้ตอบเกาหลีเหนือ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 11 กันยายน-15 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 33.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสกุลเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยประเทศเกาหลีเหนือไม่ได้มีการยิงขีปนาวุธอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้เพื่อเฉลิมฉลองในวันชาติที่ 9 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งนักลงทุนได้คลายความกังวลต่อผลกระทบของพายุเฮอริเคนเออร์มาที่ได้ลดระดับความรุนแรงลง ซึ่งได้สร้างความเสียหายน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวในทิศทางเชิงบวกหลังจากที่ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีถือเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ความสำคัญสูงสุด และหวังว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้การอนุมัติต่อการปฏิรูปภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปกฎหมายภาษีสหรัฐ แต่ยังคงเผชิญอุปสรรคหลายประการในการดำเนินการในปีนี้ ซึ่งนายมนูชินกล่าวว่า เป้าหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 15% อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้สำเร็จ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นงบประมาณ ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (14/9) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ส.ค. โดยดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือน ก.ค. ทั้งนี้ ดัชนี CPI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้น 6.3% ของราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. หลังจากพายุเฮอร์ริเคนวีย์พัดถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐ จนทำให้โรงกลั่นน้ำมันจำนวนมากต้องปิดการดำเนินงานชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจะเฝ้าจับตาดูมาตรการตอบโต้ของนานาประเทศ ต่อเกาหลีเหนือหลังจากที่ในเช้าวันศุกร์ (15/9) ทางการเกาหลีเหนือได้มีการทดสอบขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนตกลงสู่น่านน้ำใกล้ฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น

ในด้านของประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (11/9) นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าปัจจุบันที่ 1.5% เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจภาพรวม รวมถึงชะลอเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศเพื่อลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท อีกทั้งยังเป็นการช่วยดูแลอัตราเงินเฟ้อหลังจากช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจและการส่งออก และเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยไทยไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งเพราะจะทำให้เป็นปัญหาในการแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดูมาตรการที่เหมาะสมอยู่เพื่อออกมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ พร้อมปรับตัวแข็งค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ จากปัจจัยการไหลเข้าของเงินทุน ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงการณ์ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมายอมรับว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะนี้ถือว่าแข็งค่าสุดในภูมิภาค ซึ่งหลัก ๆ มาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นยังมาจากนักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทำให้มั่นใจมากขึ้นในการนำเงินเข้ามาลงทุน รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทำให้ไทยเกินดุลการค้า อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.จะจับตาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้นในช่วงต่อจากนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและมีมาตรการเตรียมไว้แล้ว พร้อมจะนำมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับเหมาะสมและผ่อนคลายเพียงพอ เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะข้างหน้า โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.04-33.14 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2011/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่้ระดับ 1.2059/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/9) สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือน ก.ค.ปรับขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.25% ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.2% นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ก.ค.ขยายตัวเพียง 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% โดยในวันอังคาร (12/9) ศูนย์สถิติยูโรแสตท รายงานตัวเลข CPI ของประเทศเยอรมนีและเสปนทรงตัวที่ระดับ 1.8% และ 1.6% ตามลำดับ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคมจากระดับ 2.6% ในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายฌอง คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) แถลงนโยบายและผลงานประจำ (State of the Union) ต่อรัฐสภายุโรป ณ เมืองสตาสบูร์กของฝรั่งเศส (13/9) โดยระบุว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังปรับตัวดีขึ้นจากช่วงวิกฤต โดยได้รับแรงหนุนที่ดีและส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างสดใส ทั้งนี้ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องใช้เวลานี้เพื่อทำให้สิ่งที่เริ่มไว้นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และระมัดระวังไม่ให้กระทบการเติบโตมากเกินไป ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปมีกำหนดการแถลงต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพื่อเสนอวาระการปฏิบัติหน้าที่ขณะที่ตนต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก 2 ปี โดยเขาจะพ้นตำแหน่งหลังประเทศอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการเพียงไม่นาน โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1882-1.1926 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (15/9) ที่ระดับ 1.1922/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร


สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/9) ที่ระดับ 108.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 107.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนได้คลายความวิตกกังวลจากสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเหนือ พร้อมทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/9) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ลงสู่ระดับ 2.5% จากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าจะขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบรายปี แต่อย่างไรก็ตามเช้าวันที่ (12/9) รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนสู่ระดับ 8.533 แสนล้านเยน (7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ทั้งนี้รายงานระบุว่ายอดสั่งซื้อจากภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% สู่ระดับ 3.557 แสนล้านเยน ส่วนความต้องการเครื่องจักรของญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นมาตรวัดการส่งออกในอนาคตนั้น ปรับตัวขึ้น 9.1% แตะที่ระดับ 9.959 แสนล้านเยน นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 9 อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ราคาผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 แต่ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงไปไม่ถึงเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เนื่องจากค่าแรงยังคงขยายตัวอย่างจำกัด และภาคธุรกิจลังเลที่จะผลักภาระต้นทุนไปให้กับผู้บริโภค เพราะเกรงว่าจะทำให้อุปสงค์ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของ BOJ นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ BOJ ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านโครงการซื้อพันธมิตรรัฐบาลมูลค่ามหาศาลก็ตาม ตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.70-109.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/9) ที่ระดับ 110.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ