ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวในกรอบแคบ จับตาการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐ และการระบาดของเชื้อไวรัส

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/1) ที่ระดับ 30.40/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (21/1) ที่ระดับ 30.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้รับแรงกดดันเนื่องจากตลาดยังคงจับตามองกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ในชั้นวุฒิสภาซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ (21/1) ซึ่งจะใช้เวลาในการไต่สวนทั้งสิ้น 6 วัน อย่างไรก็ดี คาดว่าผลการไต่สวนไม่น่ามีผลต่อการลงมติของวุฒิสภา เนื่องจากพรรค Republican ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดีทรัมป์ ครองเสียงส่วนมาก แต่จะมีผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เนื่องจากจะมีการถ่ายทอดสดตลอดการไต่สวน นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในสหรัฐ เนื่องจากในช่วงสุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน จึงจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับข้อมูลปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงเช้าวันนี้ (22/1) มีตัวเลขปริมาณธุรกรรมส่งออกและนำเข้าของไทยในเดือนธันวาคม ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยปริมาณธุรกรรมส่งออกของไทยในเดือนธันวาคมหดตัวที่ระดับ 1.28% จากที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะหดตัว 1.25% และปริมาณธุรกรรมนำเข้าของไทยในเดือนธันวาคมออกมาเพิ่มขึ้น 2.54% จากคาดการณ์ที่จะปรับเพิ่มขึ้น 2.00% และยังถือว่าเพิ่มจากเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหดตัวที่ระดับ 7.39% และ 13.78% ตามลำดับ นอกจากนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่จากประเทศจีนยังคงกดดันให้ตลาดมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.37-30.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (22/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1082/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/1) ที่ระดับ 1.1090/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวในกรอบแคบ แม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมันจากสถาบัน ZEW เดือนมกราคม ที่ประกาศเมื่อวาน (21/1) จะออกมาที่ 26.7 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 15.0 ก็ตาม อย่างไรก็ตามตลาดยังคงรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ (23/1) ซึ่งตลาดฟังถ้อยแถลงว่าในปีนี้ทาง ECB มีการวางแผนนโยบายทางการเงินอย่างไรบ้าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของปีนี้ด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1075-1.1094 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1090/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (22/1) เปิดตลาดที่ระดับ 109.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/1) ที่ระดับ 109.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากนี้เมื่อวานนี้ (21/1) มีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) โดยที่ BoJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% และยังมีแถลงการเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะคงขยายตัวปานกลาง พร้อมให้คำมั่นว่า BoJ พร้อมจะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.83-110.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.95/96
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณธุรกรรมนำเข้าและส่งออกไทยเดือนธันวาคม (22/1), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรเดือนธันวาคม (22/1), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือนธันวาคม (22/1), ดุลการค้าประเทศญี่ปุ่นเดือนธันวาคม (23/1), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหภาพยุโรป (23/1), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (23/1), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป (23/1), ดัชนี PMI ญี่ปุ่น เยอรมัน สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (24/1), ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย (24/1)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.8/-1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.5/1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ