ยอดขาย OTOP ปี’62 วูบ 5-10% ปีนี้ดันโรดโชว์-งานแฟร์-เพิ่มช่องทางค้าออนไลน์

ยอดตก - เครือข่ายโอท็อปไทยยอมรับปี 2562 ยอดขายลดลง 5-10% ดังนั้นไตรมาสแรกปี 2563 จะจัดกิจกรรมไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย

สงขลาหนุนโอท็อปสร้างพื้นที่ขายสินค้า 2 แห่ง รับอานิสงส์งานแฟร์-โรดโชว์ดันยอดขาย ด้านเครือข่ายโอท็อปชี้รายได้จากการขายสินค้า OTOP ของไทยปี’62 วูบ 5-10% จากมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทในปี’61 คาดปี’63 ยังคงที่และพร้อมขยายตัวในอนาคต ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารครองตลาดกว่า 50% กลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นคนไทย

นายพงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานเครือข่ายโอท็อปไทย ประธานเครือข่ายโอท็อปภาคใต้ และประธานคณะกรรมการเครือข่ายโอท็อป (OTOP) จังหวัดสงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดขายสินค้าโอท็อปในประเทศไทยปี 2563 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันมูลค่าดังกล่าวกลับลดลงประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยรายได้จากการขายสินค้าโอท็อปเครือข่าย จ.สงขลา ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์มาจากการจัดงานโรดโชว์ งานแฟร์ ประมาณ 10 ครั้ง ในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดทั้งปี โดยการจัดงานในแต่ละครั้งจะนานกว่า 10 วัน และในปี 2563 คาดว่าจะมียอดขายใกล้เคียงกันกับปีที่ผ่านมา

“สำหรับไตรมาสแรกของปีในปี 2563 ได้มีการจัดงานแฟร์ครั้งแรกที่ อ.เมือง จ.สงขลา ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และในครั้งต่อไปจะจัดอยู่ที่ จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-8 มีนาคม ถัดมาคือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ระหว่างวันที่ 20-29 มีนาคม และจะมีการดำเนินการตามแผนงานต่อไปอีกในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกันกับการจัดโรดโชว์ โอท็อป 2 แผ่นดิน ที่เคยจัดไปแล้วในประเทศมาเลเซีย โดยกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะมีการออกแบบการจัดงานในครั้งต่อไป และจะถูกดันเข้าไปอยู่ในแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยกระทรวงพาณิชย์ที่มีความชำนาญในการจัดงานมากกว่า”

ส่วนทิศทางการขยายตัวของตลาดสินค้าโอท็อปในปี 2563 ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี จ.สงขลาวางแผนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า 2 แห่งที่รองรับการขายสินค้าโอท็อปโดยเฉพาะ คือ 1.สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ มีพื้นที่ 13 ตารางเมตร จะเปิดให้บริการต้นเดือนมีนาคม 2.คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คาดว่าเริ่มจำหน่ายสินค้าได้เดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสินค้าโอท็อปที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นคนไทย 80% ชาวต่างชาติ 20% สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่กว่า 50% คือ อาหาร ถัดมาจะเป็นผ้าไทยประมาณ 20% ของใช้ 10-15% สมุนไพร 10% และอัญมณีประมาณ 10% ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าสินค้าประเภทอื่นตามท้องตลาดทั่วไป มีราคาตั้งแต่ 3,000-100,000 บาท และสูงถึง 1-2 ล้านบาท เช่น ทับทิมสยาม 100% นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลที่ถือว่าเป็นสินค้าใหม่และทยอยออกมาสู่ตลาดมากขึ้น

หากจับกลุ่มลูกค้าตามประเภทสินค้า จะเห็นได้ว่าอาหารและของใช้จะขายดีในภาคใต้ ผ้าจะขายดีในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนสินค้าโอท็อปที่น่าสนใจไม่แพ้สินค้าประเภทอื่น เช่น หมอนยางพารา ค่อนข้างมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการดัมพ์ราคากันเองตั้งแต่ 650-350 บาท/ใบ และคาดว่าในอนาคตราคาจะต่ำลงอีก เพราะจีนเริ่มผลิตหมอนยางพาราเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ที่สำคัญจะเป็นสินค้าแมสโปรดักต์ที่สามารถแข่งกับผู้ประกอบการรายเล็กของไทยได้


อย่างไรก็ตาม นายพงศ์สวัสดิ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุกจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาสินค้าโอท็อปของตัวเอง และเริ่มขยายช่องทางการตลาดขายในระบบออนไลน์มากขึ้นประมาณ 10% แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงนิยมไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองตามงานโรดโชว์และงานแฟร์มากกว่า