“สุรงค์” มั่นใจจบค่าโง่ทางด่วนดีที่สุด-พนักงานโล่งใจ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี ครม.มีมติอนุมัติต่อขยายสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15 ปี 8 เดือน ตามแนวทางการเจรจากับฝ่ายเอกชน เพื่อขอให้ยุติคดีความและข้อพิพาททั้งหมด ว่า นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ชี้แจงว่า การแก้ไขสัญญาโดยขยายสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาทครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมากว่า 25 ปี ลำพังแค่ข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินมาแล้วให้ กทพ. ชดเชย 4,300 ล้าน ก็เสียหายมากแล้ว หาก กทพ. สู้คดีต่อและแพ้คดีต่อไปอีก ซึ่งต้องยอมรับว่ามีโอกาสสูงมาก เพราะเป็นเรื่องเดิมที่แพ้แล้ว แต่จะเกิดขึ้นทุกปีจนจบสัมปทาน ถ้าถึงจุดนั้น ประเทศชาติจะเสียหายหนักมากขึ้น แล้วใครจะรับผิดชอบ

นายสุรงค์กล่าวว่า จากนั้นสังคมจะตั้งคำถามว่าทำไม่เจรจาเพื่อแก้ปัญหาให้จบแต่ต้น จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลเข้ามาตัดสินใจแก้ปัญหา เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปจนถึงกระทรวงคมนาคมและกรรมการ กทพ. ชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่กลายเป็นคนต้องเข้ามาแก้ไข อยากให้สังคมได้เล็งเห็นจุดนี้ วันนี้คนที่พูดว่าให้สู้คดีต่อไปจึงอยากให้กลับมาคิดถึงส่วนรวม ว่าอะไรคือความเหมาะสม เป็นธรรม และแก้ปัญหาได้จริง อย่าเอาแค่สะใจและนำไปใช้เป็นประเด็นการเมืองโจมตีกัน

ประธานคณะกรรมการ กทพ. ระบุต่อไปว่า การเจรจาดำเนินการโปร่งใส มีผู้แทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเจรจา ทั้งกระทรวงคลัง สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด มีคณะกรรมการกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน คำถามที่เป็นประเด็นก็ชี้แจงต่อสังคม รวมทั้งคณะกรรมมาธิการวิสามัญของสภาพผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นด้วยกับการขยายสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาทกับเอกชน ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดไม่ซื้อคืนสัมปทาน ต้องถามกลับว่า ซื้อคืนแล้วแก้ปัญหาตรงไหน รัฐจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อคืน การซื้อคืนย่อมเท่ากับเอาเงินไปให้เอกชนทันที ซึ่งหมายถึงการเอื้อเอกชน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ถ้าสู้คดีแล้วเสียหายเป็นแสนล้าน จะเอาเงินที่ไหนจ่าย กทพ.ก็จะมีสภาพหนี้ท่วม หมดศักยภาพในการบริหาร

ด้านนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ กรรมการสหภาพแรงงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) กล่าวว่า ความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดในอดีต ถือเป็นทางออกดีที่สุด ฝั่งพนักงาน กทพ. และประชาชนไม่ต้องสุ่มเสี่ยงรับผลกระทบ ต้องเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวว่า เกิดจากการทำสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน เมื่อมีการผิดสัญญา เกิดการฟ้องร้อง และศาลปกครองสูงสุดตัดสิน กทพ.แพ้คดีให้กับ BEM การสู้คดีที่เหลือไม่มีหลักประกันว่าจะชนะหรือไม่ หรือหากจะต่อสู้คดีต่อ ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยในคดีแรกก่อนเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้าน ซึ่ง ครม.เองก็ปฏิเสธที่จะจ่าย ดังนั้นการหาทางออกลักษณะนี้ส่งผลให้รัฐไม่ต้องแบกรับความเสียหายจากการฟ้องร้อง