สหรัฐออก QE ไม่จำกัดวงเงิน เพื่อรับมือ COVID-19

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (23/3) ที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 32.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของตลาดทุนทั่วโลก และจากความกังวลด้านสภาพคล่องของตลาด ในขณะที่วิกฤตเชื้อไวรัสโคโรนากระตุ้นให้นักลงทุนเข้าถือครองเงินสดเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้วุฒิสมาชิกสหรัฐยังไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการมอบเงินให้ประชาชนรายละ 1,200 ดอลลาร์ โดยในการโหวตเสียงรอบแรกของวุฒิสภา ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียง 47 ต่อ 47 ซึ่งยังขาดอีก 60 เสียงจึงจะสามารถผลักดันมาตรการดังกล่าวได้

แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2555 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในวงเงินไม่จำกัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของตลาด และความมีประสิทธิภาพในการใช้นโยบายการเงิน ท่ามกลางสภาวะทางการเงินและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อการขาดสภาพคล่องของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงินลง นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังจากข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐพุ่งขึ้น 85,505 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิต 1,288 ราย นอกจากนี้ทำเนียบขาวและวุฒิสภาสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 96-0 เสียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่มีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายฉบับนี้ หากได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ

ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวอเมริกัน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมระบุว่านโยบายของเฟดจะมีความสำคัญอย่างมากขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น เพื่อให้การฟื้นตัวมีความแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.40-33.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 32.55/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษในวันศุกร์ (20/3) โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในการประชุมวันพุธ (25/3) ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ในปี 63 ก่อนจะกลับมาขยายตัว 3% ในปี 64 โดยปัจจัยหลักดังกล่าวส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะลดลง -1.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 63 และ 64 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ (22/3) ธปท.ตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกระทรวงการคลัง-ก.ล.ต.-สมาคมธนาคารไทย-สมาคมบริษัทจัดการกองทุน อัด 3 มาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ดูแลสภาพคล่อง กองทุนรวมตราสารหนี้ ตราสารหนี้เอกชน ตราสารหนี้รัฐบาล วงเงิน 1 แสนล้านบาท จากเดิมที่เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้วกว่าแสนล้านบาท ในวันอังคาร (24/3) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคมนี้ โดยมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายดังกล่าวที่จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 1 เดือนจนถึงวันที่ 26 เมษายน โดยรูปแบบการทำงานคล้ายกับศูนย์อำนวยการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งจะรวมอำนาจทุกกระทรวงมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดบูรณาการทำงานและเมื่อประกาศใช้แล้วจะต้องตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวขึ้นมาทำหน้าที่

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (23/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0671/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/3)ที่ระดับ 1.0753/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังสหรัฐ ขยายขอบเขตวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณไม่จำกัดจำนวน แม้ว่ายังคงได้รับแรงกดดนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง โดยมีการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 44.8 ในเดือนมีนาคม ลดลงจากเดือนกุมภาพันธที่ระดับ 49.2 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 40.1 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในเดือนมีนาคมร่วงลงสู่ระดับ 28.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ระดับ 40.0 ทำให้ในภาพรวมของตัวเลขดัชนี PMI ของภูมิภาคยูโรโซนในเดือนมีนาคมร่วงลงสู่ระดับ 31.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.6 รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในภูมิภาคที่ยังคงทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในอิตาลีซึ่งอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งถึงระดับเกือบ 10% แล้ว และมีท่าทีว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อีก

ทั้งนี้  Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 86.1 ในเดือน มี.ค.จากระดับ 96.0 ในเดือน ก.พ. ผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทรุดตัวลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ GfK เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีปรับตัวลงแตะต่ำสุดในรอบ 10 ปี สู่ 2.7 จุดในเดือน เม.ย. จาก 8.3 จุดในเดือน มี.ค. ทำให้สภาล่างของเยอรมนีได้มีการระงับการใช้กฎหมายคุมเพดานหนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ร่างโดยรัฐบาลของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ธนาคารดอยช์แบงก์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีอาจจะหดตัวลง 4-5% ในปี 2020 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0636-1.1087 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 1.11018/3 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (23/3) เปิดตลาดที่ระดับ 110.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 109.90/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบอิงจากปัจจัยภายนอกและสถานการณ์ COVID-19 เป็นหลัก ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมไปแล้ว โดยคณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถควบคุมได้ โดยการประเมินดังกล่าวอาจนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหากจำเป็น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.23-111.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดในวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 108.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ