ศิริราชจับตาอีก 14 วัน คาดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่ง จากกลุ่มคนกลับตจว.

วันที่ 27 มี.ค. 2563 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการตรวจยืนยันโรคโควิด-19 ว่า ในเวลานี้เราจะแยกคนไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คนไม่มีอาการ และไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำไม่ต้องไปทดสอบอะไรเลย และไม่ต้องไปหาชุดทดสอบรวดเร็ว (แรพิดเทสต์) มาตรวจ เพราะไม่มีประโยชน์ นอกจากเสียเงินแล้วจะทำให้น้ำยาที่ต้องใช้ตรวจในคนจำเป็นไม่เพียงพอ

โดยสิ่งที่ควรทำคือ การอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งจะทำให้เชื้อแพ้เรา และทำเรื่องระยะห่างทางสังคม เพราะโรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน หากคุยกันก็ควรห่างประมาณ 2 เมตร เพราะในระยะ 1 เมตรการพูดคุยกันจะมีฝอยละอองขนาด 5 ไมครอนออกมามากถึง 3,000 ละออง

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนที่ไม่มีอาการ แต่เป็นคนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่แค่การประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่รวมสถานที่ที่มีการเจอผู้ป่วยด้วย ก็ให้เอะใจว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มนี้แนะนำให้ไปที่รพ. เพื่อทดสอบ หากผลเป็นลบ อย่าเพิ่งดีใจ เพราะหมายความว่า เวลาตอนนั้นบอกเป็นลบ สิ่งที่ต้องทำต่อคือกลับไปอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน และมีระยะห่างทางสังคม

แต่ถ้าตรวจแล้วผลบวกแสดงว่ามีไวรัสอยู่ในตัวแล้ว ก็ต้องอยู่รพ. การตรวจยังคงเป็นการใช้วิธีพีซีอาร์ เพื่อยืนยันเชื้อเป็นหลัก แต่หากมีผู้ป่วยล้นรพ.จนรับไม่ไหว แรพิดเทสต์ที่มีความไวจะมีประโยชน์ เพราะหากผลเป็นบวก จะทำให้บุคลากรตรงนั้นต้องระวังทันที และผู้มาตรวจก็เข้าสู่กระบวนการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่ามีไวรัสตัวนี้จริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในคนที่มีอาการรุนแรงแล้ว เพราะหากมาแล้วต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้เก็บตัวอย่างจากหลังจมูกไม่ได้ ส่วนใหญ่พวกนี้ระบบภูมิคุ้มกันจะพบในกระแสเลือดสูงแล้ว ก็ใช้เจาะเลือดตรวจได้

และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีอาการและเป็นกลุ่มเสี่ยง กรณีแบบนี้ขอให้ไปรพ.และทำการทดสอบด้วยวิธีหลักคือตรวจแบบพีซีอาร์ เพราะเสี่ยงแล้วต้องยืนยันว่าใช่หรือไม่ใช่ และทำการรักษา ดังนั้นต้องถามตัวเราว่าอยู่กลุ่มไหน

“สำหรับแรพิดเทสต์มี 2 อย่าง คือ 1.ตรวจหาระดับพันธุกรรมไวรัสเหมือนกัน แต่เทคโนโลยีทำให้สั้นลง รู้ผลเร็วขึ้น แต่สิ่งนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาเครื่องมือ ยังไม่ออก และ 2.ตรวจภูมิคุ้มกัน แต่มีช่วงเวลาที่จะตรวจไม่เจอ เพราะวันแรกที่ได้เชื้อเข้าไป เฉลี่ย 5-7 วันหลังรับเชื้อภูมิคุ้มกันจะขึ้น ถ้าเรามาตรวจภูมิในช่วงที่ภูมิยังไม่ขึ้นหรือน้อย อาจเป็นลบ แต่จริงๆ มีไวรัสในตัวเราแล้ว การพยายามวิ่งไปตรวจเทสต์ พอผลเป็นลบก็ดีใจ จริงๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าตรวจช่วง 7-14 วันแล้วภูมิขึ้น ก็ต้องยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจพีซีอาร์ ยืนยันว่าแรพิดเทสต์ไม่ได้เป็นเมจิก ไม่เป็นของวิเศษที่จะใช้ทดแทนหรือทุกคนต้องตรวจ ยืนยัน เพราะถ้าไม่แปลผลให้ดี แปลผิดก็เป็นอันตราย” ศ.นพ.ประสิทธ์กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกย้ำว่า วิธีสู้โควิดทั่วโลกไม่ใช่การออกมาทดสอบตรวจเชื้อ สิ่งที่ทุกคนทำได้และช่วยได้คือ 1.การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพราะหากในบ้านเราปลอดไวรัส การออกจากบ้านก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยง อาจไปคุยกับคนที่มีไวรัสแต่ไม่มีอาการ เมื่อกลับบ้าน ก็เสี่ยงทำให้ในบ้านนั้นมีโอกาสติดได้ นอกจากนี้ คนที่มีเชื้อก็เสี่ยงออกไปแพร่ใส่คนอื่น บ้านอื่นๆ ก็จะเป็นสีแดงเยอะขึ้น ถ้าต้องออกจากบ้านต้องมีระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ตอนนี้ขอว่าอย่าเอาสุขสบายอย่างเดียว หากเราทำสำเร็จ เราจะหยุดเชื้อได้สำเร็จ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ผู้ป่วยของไทยยังไม่หนักเท่ามาเลเซีย ซึ่งขึ้นสูงและเร็วทั้งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต ถ้าไทยยังไม่ยอมหยุด เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม โดยเฉพาะคนที่เดินทางกลับต่างจังหวัด หากยังมีการสังสรรค์ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อสูงมาก

ซึ่งตนคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ เราจะพบตัวเลขผู้ป่วยกระโดดขึ้นอีกครั้ง จากกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างจังหวัด ที่มีการไปรวมตัวกันตามขนส่ง ถึงแม้จะใส่หน้ากาก แต่ก็อยู่รวมกันเป็นเวลานานและเดินทางในรถคันเดียวกันหลายชั่วโมง ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ ทำให้อาจพบผู้ป่วยถึง 2 พันคน เมื่อถึงวันนั้นบุคลากรทางการแพทย์ของไทยอาจจะไม่เพียงพอ เพราะสัดส่วนในการดูแลผู้ป่วยปัจจุบันใน กทม.แพทย์ 1 คน ดูแลผู้ป่วย 800 คน แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วยมากถึง 3,000 คน รวมถึงอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะมีน้อยหรือไม่พร้อม อาจทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงไปพร้อมกับจำนวนผู้ป่วย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์ป้องกันเอาไว้ให้เพียงพอกับสถานการณ์ในอนาคตเพราะจากข้อมูลเฉพะในรพ.ศิริราชการดูแลผู้ป่วย 1 คนใน 1 วันต้องใช้ชุดหมีหรือชุดป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE มากถึง 30 ชุด ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลศิริราชมีการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก 7 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีทั้ง คนอ้วน และคนที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ชุดเฉลี่ยวันละ 200 ชุด เพราะฉะนั้นต้องหาให้พอ อยากให้คนที่ใจบุญ มีคอนเนคชันในการจัดหาชุด PPE ได้ก็ขอให้บริจาคเป็นชุดแทนเงิน เพราะในสถานการณ์แบบนี้ต่อให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ เพราะทั่วโลกต่างมีความต้องการแบบเดียวกัน ส่วนกรณีที่ รพ.ศิริราชมีการตัดเย็บชุดพลาสติกป้องกันเชื้อนั้นเป็นการเตรียมเอาไว้ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ส่วนการดูแลผู้ป่วยอาการหนักยังจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ชุดPPE เท่านั้น

ที่มา:ข่าวสดออนไลน์