นักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ จากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (30/3) ที่ระดับ 32.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงระหว่างสัปดาห์ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวในวันอังคาร (31/3) ว่า สถานการณ์ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะที่ทำเนียบขาวออกรายงานคาดการณ์ในวันเดียวกันว่า ชาวอเมริกันอาจเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงถึง 100,000-200,000 ราย แม้ว่ารัฐต่าง ๆ ได้ประกาศมาตรการให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ตาม ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่นักลงทุน และเข้าถือครองดอลลาร์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.5 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 50.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งดัชนี PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ได้บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส และการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ ลดลงเพียง 27,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 125,000 ตำแหน่งหลังจากเพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ในส่วนของการจ้างงานในภาคบริการลดลง 18,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม ส่วนการจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 9,000 ตำแหน่ง และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์

ทั้งนี้ นักลงทุนยังรอดูการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวจะลดลง 100,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% โดยรายงานเดือนที่แล้ว ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 273,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 175,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี จากระดับ 3.6% ในเดือนมกราคม

สำหรับปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ ทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะนำมาตรการดูแลเศรษฐกิจชุดที่ 3 รวมถึงมาตรการในการดูแลเสถียรภาพ ตลาดเงินและตลาดทุน เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมในวันที่ 3 เมษายน เพื่อให้เห็นชอบในหลักการ หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า (7/4) ต่อไป หาก ครม.เห็นชอบมาตรการชุดนี้ คาดว่าจะสามารถดูแลเศรษฐกิจไทยได้อีก 6 เดือน ในด้านของนายกรัฐมนตรี มีการประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนนี้เป็นต้นไป ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.56-33.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 32.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของปัจัยในภูมิภาค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนโดยมาร์กิตร่วมกับไฉซิน เปิดเผยออกมาที่ระดับ 43 ในเดือนมีนาคม ซึ่งปรับตัวขึ้นจากระดับ 26.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี ดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ ภาคบริการของจีนยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว จากการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการปิดร้านค้าจำนวนมาก และการล็อกดาวน์ระบบสาธารณะ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (30/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1096/98  ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 1.1018/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงจากความต้องการดอลลาร์ของนักลงทุน ขณะที่มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 44.5 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 92 เดือนจากระดับ 49.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 จากผลกระทบจากการแพรระบาดของเชื้อไวรัส โดยภาคการผลิตของอิตาลีมีภาวะอ่อนแอที่สุดในยูโรโซน ขณะที่ภาคการผลิตเยอรมนี ฝรั่งเศส กรีส ไอร์แลนด์ สเปน และออสเตรียต่างเผชิญกับภาวะหดตัวระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0785-1.1143 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 1.0798/802 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (30/3) ที่ระดับ 107.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (27/3) ที่ระดับ 108.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าระหว่างสัปดาห์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมอนุมัติผ่อนผันการจ่ายภาษีชั่วคราวให้กับบริษัทที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 20% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนั้น ในวันศุกร์ (3/4) ทางนายกรัฐมนตรีนายชินโช อาเบะ และพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่า รัฐบาลจะมอบเงินให้กับประชาชนที่เผชิญกับปัญหารายได้ที่ลดลงอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส โดยจะมอบให้ครัวเรือนละ 300,000 เยน

อย่างไรก็ดี นายชินโช อาเบะ เปิดเผยว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 ยังไม่ได้ระบาดไปทั่วประเทศญี่ปุ่นจนถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ยังคงต้องระมัดระวังไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาทางนายอาเบะได้พยายามระมัดระวังในการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยระบุว่าการทำเช่นนั้นอาจเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่ทางผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เรียกร้องให้นายอาเบะประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายของระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.89-108.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 108.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของราคาน้ำมันทางซาอุดิอาระเบียผู้เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) รวมถึงรัสเซียและประเทศพันธมิตรจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน โดยทางประธานาธิบดีทรัมทป์ของสหรัฐออกมาระบุว่า ได้หารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียและมกุฎราชกุมารแห่งซาอุอีอาระเบียเมื่อวันพฤหัสบดี (2/4) ซึ่งเขาคาดว่าทั้ง 2 ประเทศอาจปรับลดกำลังการผลิตลงราว 10 ล้านบาร์เรล หรืออาจมากถึง 15 ล้านบาร์เรล (ประมาณ 15% ของกำลังการผลิตทั้งโลก) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด และเชื่อว่าประเทศทั้ง 2 จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามราคาในอีกไม่กี่วัน นอกจากนั้นมีรายงานทางการจีนกำลังดำเนินการตามแผนในการซื้อน้ำมันเข้าคลังสำรองฉุกเฉิน หลังจากที่ราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักถึง 60% ในปีนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 24.67% รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงกลั่นและปิโตรเคมีปรับขึ้นตาม