“ศุภวุฒิ สายเชื้อ”กระทุ้งรัฐแก้ล็อกดาวน์ธุรกิจ จีดีพีหดตัว-6.8% กลางปีเสี่ยงตกงาน 5 ล้านคน

File Photo Thai workers look at job advertisementss. AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI (Photo credit should read NICOLAS ASFOURI/AFP via Getty Images)

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กระทุ้งรัฐเร่งปลด “ล็อกดาวน์เศรษฐกิจ” ชี้ออก พ.ร.ก.เงินกู้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าไม่มีมาตรการ “หยุดโรค” อย่างมีประสิทธิภาพ KKP หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ -6.8% เตือนรับมือ ศก.โลกถดถอยรุนแรง เสี่ยงตกงาน 5 ล้านคน นักธุรกิจจี้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบบูรณาการฝ่ามรสุม “โควิด-เศรษฐกิจ” พยุงธุรกิจ-อุ้มแรงงานวิกฤตของ “คนจน”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แตกต่างจากปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตของคนรวย แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตของคนทั้งประเทศ ที่ “คนจน” ได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งล่าสุดทาง KKP Research ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 หดตัวที่ -6.8% แต่จากที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการ “ล็อกดาวน์เศรษฐกิจ” โดยที่มาตรการในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อไหร่ ดังนั้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสำนักวิจัยต่าง ๆ จะต้องมีการปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ทุก ๆ เดือน และหากรัฐบาลใช้วิธีขยายเวลาล็อกดาวน์ไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจก็จะเสียหายมากกว่านี้แน่นอน

“การที่รัฐบาลสั่งให้ร้านค้า ธุรกิจต่าง ๆ ปิดกิจการ ให้อยู่เฉย ๆ เหมือนสั่งให้กลั้นหายใจ โดยไม่รู้ว่าจะต้องกลั้นหายใจไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งเป็นต้นทุนเศรษฐกิจที่สูงมาก ดังนั้นในช่วงที่ล็อกดาวน์ รัฐบาลต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า และต้องบอกว่ามีแผนจะจัดการกับปัญหาอย่างไร จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดอย่างไร นอกจากการทำ social distancing เพราะสิ่งสำคัญของการคุมโควิด-19 ที่ต้องทำคือการไล่ตรวจโรคกับประชาชนและแยกกลุ่ม เพื่อให้รู้ว่ากลุ่มไหนไม่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เมื่อเปิดให้กลับมาทำงานจะไม่เกิดการแพร่ระบาดอีก ไม่ใช่ให้หยุดทำงานเฉย ๆ แต่ไม่มีมาตรการอื่นตามมา”

ศก.ไทยเจอรุม 3 ด้าน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญมี 3 มิติ คือ 1.เศรษฐกิจโลกแย่ สหรัฐ/ยุโรปเอาไม่อยู่ กระทบส่งออก/ท่องเที่ยวประมาณ 60% ของจีดีพี 2.ประเทศไทยมีปัญหาโควิด-19 ใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ทำให้ธุรกิจเดินได้ยากขึ้น ยังไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบจีดีพีอีกเท่าไหร่ และ 3.ธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาไม่มีลูกค้า ขายสินค้าและบริการไม่ได้อีก ทุกอย่างหยุดนิ่งหมด

“สิ่งสำคัญคือต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจฟังก์ชั่น สั่งปิดแล้วต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า คือ ต้องใช้เวลาในช่วงล็อกดาวน์เศรษฐกิจ ควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิผล เพื่อที่จะให้ธุรกิจกลับมาเดินต่อโดยเร็ว เพราะการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินมาเยียวยา เท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า หน้าที่ของรัฐบาลต้องมากกว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงิน และมาตรการเยียวยา แน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นในตอนนี้ แต่ต้องทำมากกว่านี้ โดยเฉพาะชี้ทิศทางให้เห็นว่า รัฐบาลมีแผนอย่างไร และคาดว่าจะจบเมื่อไหร่ จบอย่างไร เพื่อที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนประเมินได้ว่า ตัวเองว่าจะสามารถ “กลั้นหายใจ” ได้นานแค่ไหน ในภาวะที่แทบจะไม่มีรายได้เข้ามา

“นี่ถือเป็นการดิสรัปต์ครั้งใหญ่ ชีวิตหลังมาตรการล็อกดาวน์จะเป็นอย่างไร ธุรกิจหลังกลับมาเปิดใหม่จะเป็นอย่างไร เช่น ภาคท่องเที่ยวจะปรับตัวอย่างไร เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดิมเข้ามา 40 ล้านคนต่อปี ตอนนี้ประเมินกันว่าจะเหลือ 20 ล้านคน ถ้าเป็นเช่นนี้แรงงานด้านท่องเที่ยวจะทำอย่างไร จำนวนห้องพักโรงแรมจะโอเวอร์ซัพพลายจำนวนมาก ถ้าเป็นแบบนี้แผนการช่วยเหลือธุรกิจก็ต้องคิดใหม่ เพราะ new normal ของธุรกิจหลังจากนี้จะเปลี่ยนไป”

KKP หั่นจีดีพีหดตัว -6.8%

ทั้งรายงานเศรษฐกิจของ KKP Research ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2563 หดตัวที่ -6.8% เพราะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น และล่าสุด Bank of America ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลงอย่างหนัก โดยสหรัฐจะติดลบ 6% สหภาพยุโรปติดลบ 7.6% และเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 1.2% ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7% ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2552

2.มาตรการปิดเมือง และ social distancing ที่เข้มข้นขึ้น รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาด ประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง รวมถึงประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากกว่าที่เคยประเมินไว้ และ 3.การประกาศปิดการเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกาศปิดเมืองในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้น

เสี่ยงตกงาน 5 ล้านคน

โดยเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะทำให้เกิดภาวะ “การว่างงาน” เป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร การค้า และการขนส่ง มีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน คิดเป็น 30% ของการจ้างงานทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55% ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง หรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากดีมานด์ที่ลดลงด้วย KKP Research คาดว่าอาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือ 13% ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ธุรกิจเชียร์กู้เงิน 10% จีดีพี

ขณะที่แหล่งข่าวแวดวงนักธุรกิจเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในแง่ของการออกมาตรการเยียวยาที่ได้ดำเนินการไปแล้วถือว่า “มาถูกทาง” แต่ยังไม่พอ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการประชุม ครม.นัดพิเศษแจ้งว่า มีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ราว 10% ของจีดีพี (มูลค่าจีดีพี 16 ล้านล้านบาท) ก็ถือว่าสอดคล้องกับที่หลายฝ่ายเสนอ เพราะปัญหาครั้งนี้รุนแรงมาก ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเตรียมเงินหน้าตักเพื่อพยุงและฟื้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลเช่นกัน อย่างสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นที่ประกาศเตรียมเงิน 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 10% ของจีดีพี, เยอรมนี ประมาณ 32% ของจีดีพี, อังกฤษ 19% ของจีดีพี, ออสเตรเลีย 10%, สิงคโปร์ 16% และมาเลเซีย 17% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ เรื่องการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ทั้งในส่วนของ “การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19” และ “ปัญหาเศรษฐกิจ” หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลยังต่างคนต่างเดิน ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ผู้นำต้องใช้อำนาจและตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ซึ่งแต่ละปัญหาต้องมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการที่จะเข้าไปช่วยจัดการอย่างเป็นระบบ และครอบคลุม เช่น อาจต้องมี “ทีมบริหารแก้โควิด-19” และ “ทีมเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สั่งการได้ทุกกระทรวง

แหล่งข่าวระบุว่า เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ใหญ่มาก ทำให้ธุรกิจต้องอยู่ในภาวะ “จำศีล” ซึ่งยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน คาดว่าอาจทำให้จีดีพีของไทยหดตัวมากกว่า 10% แม้ว่าขณะนี้แบงก์ชาติจะประเมินไว้ที่ติดลบ -5.3% แต่เนื่องจากยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ก็ทำให้ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของปัญหาว่าจะยาวนานแค่ไหน

พยุงธุรกิจ-อุ้มแรงงาน

ดังนั้น นอกจากมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาขณะนี้ จะต้องดูแลให้ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งอาชีพอิสระ แรงงานในระบบ รวมทั้งเกษตรกร ซึ่งการที่คลังประเมินตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบ 9 ล้านคน อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้มีแรงงานในระบบประกันสังคมอีกกว่า 2-3 ล้านคน ซึ่งยังไม่ได้รับการดูแล เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข “ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย” ที่จะต้องเป็นกรณีภาครัฐสั่งปิดชั่วคราว หรือนายจ้างให้ออกเนื่องจากผลกระทบโควิดเท่านั้น สำนักงานประกันสังคมจึงจะจ่ายชดเชย ซึ่งเวลานี้ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ โดยเฉพาะรายกลางรายเล็กที่สายป่านสั้น โอกาสที่จะแบกรับการดูแลพนักงานคงยากลำบาก

สิ่งสำคัญ เพื่อช่วยไม่ให้ปัญหาเศรษฐกิจถลำลึกมากยิ่งขึ้น เพราะหากธุรกิจล้มระเนระนาดก็จะส่งผลไปถึงสถาบันการเงินกลายเป็นหนี้เสีย มีปัญหาลากไปทั้งระบบ ดังนั้น รัฐต้องมีมาตรการช่วยประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ ในภาวะที่ธุรกิจถูกจำศีล ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ทั้งจ่ายเงินเดือนพนักงาน/ค่าเช่า/ดอกเบี้ย สิ่งสำคัญก็คือตอนนี้ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลและแบงก์ชาติมีมาตรการให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยพักหนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเฉพาะการพักเงินต้นเท่านั้น ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ มีเฉพาะธนาคารของรัฐเท่านั้นที่ขณะนี้มีการประกาศพักเงินต้นและดอกเบี้ย เรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากของผู้ประกอบการที่หวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ธุรกิจล้ม แล้วรัฐบาลเข้ามาช่วยเยียวยาแรงงาน ก็จะเป็นการสร้างความเสียหายทางธุรกิจมากกว่า

“บัณฑูร” ทุกคนโดนผลกระทบ

ขณะที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตปี 2540 หรือต้มยำกุ้ง เพราะตอนนั้นบริษัทลงทุนเกินตัว ทำให้ล้มทั้งประเทศ แต่เมื่อมีการเพิ่มทุนเข้ามาก็ทำให้ธุรกิจกลับมาได้ แต่โควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีรูปแบบการจัดการมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถออกมาทำการค้าขายได้ปกติ ถือเป็นครั้งแรกที่โดนผลกระทบกันทุกคน และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อและจบได้เมื่อไหร่

สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและประชาชน ซึ่งระหว่างนี้อาจมีการสะดุดของกิจการ เนื่องจากไม่มีคนซื้อของ ไม่มีการใช้จ่าย คนไม่มาเที่ยว “คนตัวใหญ่” อาจจะพอประทังไปได้ แต่รายเล็กอาจจะอ่อนแอ ซึ่งธนาคารก็ช่วยเหลือในการประคองและยืดหนี้ออกไป ขณะที่รากหญ้า ภาครัฐก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การแจกเงิน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤตไปได้ “ทุกฝ่ายจะต้องช่วยประคองกันไป ยอมรับว่าอาจจะมีเสียไปบ้าง แต่ภาพรวมโครงสร้างของประเทศไทยไม่ได้เสียหาย หากสถานการณ์โควิด-19 สามารถรักษาหายหรือคลี่คลายได้ เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้


“ครั้งนี้ถือเป็นบทท้าทายของชีวิต ซึ่งเราต้องเร่งมือสู้กับสงครามครั้งแรก ทุกคนต้องร่วมมือกันให้กำลังใจแพทย์ เพื่อให้สามารถสกัดโรคได้ ส่วนแบงก์ก็ต้องช่วยเหลือกันไป แบกกันไป เพราะทุกอย่างจะมาลงที่ระบบธนาคาร แต่เราเชื่อว่าตอนนี้บ้านเมืองหนักกว่าแบงก์ และทุกคนก็เหนื่อยกันหมด จึงต้องช่วยเหลือกันทุกฝ่าย”