ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยยาวถึงไตรมาส 2

แฟ้มภาพ

ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังเฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยยาวถึงไตรมาส 2 รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/4) ที่ระดับ 32.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (8/4) ที่ระดับ 32.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน มี.ค. ซึ่งเฟดได้จัดการประชุมฉุกเฉินในวันที่ 15 มี.ค. เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกรรมการเฟดทุกคนคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้ และเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง ขณะเดียวกันกรรมการเฟดมองว่า ระยะเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งนั้น จะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการใช้มาตรการและนโยบายต่าง ๆ ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนโยบายการคลัง

นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังได้แสดงความกังวลว่า ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจจะมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ทั้งนี้กรรมการเฟดจึงได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 15 มี.ค. และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเฟดมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ (9/4) 54 คน ในจำนวนนี้พบมากสุดที่กรุงเทพมหานคร 21 คน ส่งผลให้มียอดสะสมผู้ป่วยอยู่ที่ 2,423 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 32 คน ผู้รักษาหายแล้ว 940 คน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.71-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.80/32.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (9/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0862/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/4) ที่ระดับ 1.0860/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือน ก.พ.ปรับตัวขึ้น 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 1.6% ส่งผลให้เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นแตะ 2.16 หมื่นล้านยูโรในเดือน ก.พ. จากระดับ 1.87 หมื่นล้านยูโรในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ดี แม้ว่ายอดส่งออกโดยรวมในเดือน ก.พ.จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ยอดส่งออกไปยังประเทศจีนร่วงลง 8.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าจากจีนร่วงลง 12% โดยการค้าระหว่างเยอรมนีและจีนชะลอตัวลงอย่างมากเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากการที่บรรดา รมว.คลังของยูโรโซนยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจร่วมกัน แม้มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ออกตราสารหนี้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวัน ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0840-1.0881 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0871/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไวของค่าเงินเยนในวันนี้ (9/4) เปิดตลาดที่ระดับ 108.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (8/4) ที่ระดับ 108.82/84 เยน/ดอลลาร์ หลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนอย่างมาก BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมโดยไม่ลังเล หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น ขณะเดียวกัน BOJ จะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.81-109.05 เยน/ดอลลาร์สรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มี.ค. (9/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (9/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม (10/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.75/+1.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.0/+3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ