แบงก์ชาติตอบ 19 ข้อสงสัย เกี่ยวกับมาตรการกองทุน BSF

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทความ “ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการ BSF ของ ธปท.” โดยระบุว่า ในสภาวะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน ทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประชาชนจำนวนมากต้องการถือเงินสดเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมความมั่นใจในกรณีที่ต้องจับจ่ายใช้สอย นักลงทุนกังวลต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์และปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ลงอย่างมาก รวมทั้งตราสารหนี้ที่แม้ว่าจะมีความเสี่ยงการลงทุนต่ำอยู่แล้ว ส่งผลให้ความต้องการซื้อในตลาดตราสารหนี้ปรับลดมากและกำลังสร้างความตื่นตระหนกต่อปัญหาสภาพคล่องเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อหยุดความตื่นตระหนกต่อในวงกว้าง ธปท. เห็นว่าการช่วยเหลือสภาพคล่อง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนโดยรวมมีความจำเป็นที่ต้องทำให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน โดย ธปท. มีกลไกดำเนินการที่ให้เป็นไปตามบทบาทและความเสี่ยงตามกฎหมายอย่างรัดกุมแล้ว และเมื่อความเชื่อมั่นคืนกลับมา กลไกตลาดทำงานปกติแล้ว บทบาทในส่วนนี้ก็ไม่มีความจำเป็น

ทั้งนี้ ธปท. ได้มีการจัดทำตัวอย่าง “คำถาม-คำตอบ” เพื่อสร้างความเข้าใจรวม 19 ข้อ ดังนี้

  1. ทำไมหุ้นกู้ของบริษัทที่ดี ไม่ได้รับผลกระทบมาก จึงจะได้รับผลกระทบในการออกหุ้นกู้ไปด้วย

ตอบ : ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้นักลงทุนต้องการถือเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล้ายเงินสด แม้ว่าในภาวะปกติหุ้นกู้ที่เป็น investment grade จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ความตื่นตระหนกและการเทขายสินทรัพย์ในช่วงสั้น ๆ ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องจำกัด ราคาตราสารหนี้ลดลงเร็ว จนส่งผลให้คนไม่กล้าลงทุนในตราสารหนี้ แม้ว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะเป็นบริษัทชั้นดีและไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์ดังกล่าวก็ตาม

  1. BSF จะมาช่วยอย่างไร

ตอบ : กลไกตลาดที่ไม่สามารถทำงานได้ปกติจากความวิตกกังวลของนักลงทุนบางส่วน ทำให้การจัดสรรเงินทุนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คนบางส่วนมีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ไม่กล้าเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์นอกจากถือเป็นเงินสด ขณะที่บางส่วนต้องการเงินทุนแต่ไม่สามารถหาได้ในราคาที่เหมาะสม ธปท. จึงเข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยจะเข้าไปช่วยในกรณีจำเป็น เพื่อแก้ไขกรณีที่กลไกตลาดไม่ทำงาน และป้องกันการตื่นตระหนกที่อาจลุกลามกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน โดยจะให้ความช่วยเหลือกับบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่ขาดสภาพคล่องจากการทำงานที่ไม่ปกติของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่ง BSF เป็นมาตรการ “หลังพิง” (backstop) ระยะสั้น เมื่อตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ ความเชื่อมั่นกลับคืนมา บทบาทของ BSF ก็จะยุติลง

3.ทำไมต้องช่วยตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ในเมื่อคนที่ได้รับผลกระทบเป็นแค่คนส่วนน้อย

ตอบ : ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมีการพัฒนาไปมาก โดยมีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 20 ของ GDP และเป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งออมที่สำคัญ เป็นช่องทางจัดสรรเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน

ในด้านการออม ตราสารหนี้เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของประชาชน ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนผ่านกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนรวม สหกรณ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม โดยการลงทุนของประชาชนในตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดถึง 1 ใน 3 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การทำให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนยังคงมีสภาพคล่องและดำเนินการต่อไปได้ ก็เป็นการรักษามูลค่าเงินออมของประชาชน และป้องกันไม่ให้ความตื่นตระหนกของนักลงทุนบางส่วนมากระทบเงินออมของประชาชนส่วนใหญ่ได้

ในด้านการระดมทุน การช่วยเสริมสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ช่วยให้บริษัทที่มีคุณภาพมีเงินทุนไปดำเนินกิจการต่อ หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่ครบกำหนดที่อาจนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้างพนักงาน

การกล่าวว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นแค่คนส่วนน้อยนั้นอาจไม่ถูกนัก เพราะปัจจุบันมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่เป็นจำนวนมากทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

4.ทำไมต้องช่วยนักลงทุนต่างชาติ

ตอบ : ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการถือครองโดยประชาชนไทยเป็นส่วนใหญ่ถึง 70.7% ผ่านการลงทุนทั้งทางอ้อม (40.5%) และทางตรง (30.2%) โดยส่วนที่เหลือเป็นการถือครองของบริษัทประกันชีวิตเป็นหลัก (15.7%) ขณะที่นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนเพียง 9 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์เกือบทั้งหมดคือผู้ออมคนไทย

5.ทำไมไม่ให้บริษัทที่มีปัญหาไปกู้ยืมจากธนาคารมาแทนที่จะออกหุ้นกู้

ตอบ : การขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF นั้น มีเงื่อนไขให้ธุรกิจต้องไปหาสภาพคล่องจากแหล่งอื่นให้ได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น กู้ยืมธนาคาร หรือระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ส่วนที่ขาดจึงมาขอรับความช่วยเหลือจาก BFS ซึ่งหากได้รับการพิจารณา ก็จะได้รับ bridge financing ระยะสั้น

BSF จึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือพร้อมใช้กรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีโควิด 19 เป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาหา แต่ต้องผ่านเงื่อนไขและคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้โดยคณะกรรมการกำกับกองทุนและคณะกรรมการลงทุน

6.ใครบ้างจะมีสิทธิ์เข้ารับความช่วยเหลือตามเกณฑ์ BSF

ตอบ : ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย ต้องไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือ บริษัทลูกของสถาบันการเงิน มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) ณ วันที่มาขอรับความช่วยเหลือ โดยบริษัทต้องมีฐานะการดำเนินงานดี แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีแนวโน้มจะเป็น investment grade ได้ต่อเนื่อง มีตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่มียอดคงค้าง ณ วันที่จัดตั้งกองทุน BSF ที่ครบกำหนดในปี 2563 ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งภายในหรือภายนอกให้ได้เป็นส่วนใหญ่ก่อนได้รับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือของ BSF จะขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการลงทุนของกองทุน

7.วงเงินและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ BSF

ตอบ :  BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนเพิ่ม (top up) ที่ให้กับธุรกิจ โดยธุรกิจต้องหาเงินทุนจากแหล่งภายในและภายนอกเป็นส่วนใหญ่มาก่อน

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือจาก BSF จะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน โดยบริษัทสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้คืนได้ก่อนครบกำหนด

ต้นทุนการกู้ยืมจาก BSF จะสูงกว่าการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือต้องจัดทำแผนการจัดหาเงินทุนในระยะยาวเพื่อประกอบการพิจารณา และเมื่อได้รับอนุมัติ บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนดระหว่างที่ขอรับความช่วยเหลือ เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล

8.บริษัทที่สนใจจะต้องทำอย่างไร

ตอบ : ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจะสามารถหาข้อมูล ติดต่อและแจ้งความจำนงผ่านช่องทางของผู้จัดการกองทุน

9.BSF ช่วยอุ้มแต่บริษัทใหญ่ เอื้อให้บริษัทที่ระดมทุนด้วยหุ้นกู้ได้เปรียบบริษัทอื่น ๆ หรือไม่

ตอบ : สถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ มาตรการภาครัฐจึงต้องครอบคลุมในการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับธุรกิจทุกขนาด เพราะหากบริษัทประสบปัญหาต้องหยุดกิจการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และลุกลามไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงการจ้างงาน จนกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยบริษัททุกขนาดที่ออกหุ้นกู้ อาจได้รับความช่วยเหลือจาก BSF ขณะที่ธุรกิจ SMEs ก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติม ผ่านมาตรการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ (loan payment holiday) รวมถึงมาตรการ soft loan ของทั้ง ธปท. และธนาคารออมสิน

10. ทำไมช่วยเฉพาะคนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี แต่ไม่ช่วย non-investment grade ซึ่งอาจต้องการสภาพคล่องมากกว่า

ตอบ​ : มาตรการ BSF มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราสารหนี้ส่วนใหญ่กว่า 96% อยู่ในกลุ่ม investment grade ซึ่งมีผู้ลงทุนหลักเป็นประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม สหกรณ์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่าง ๆ ซึ่งหากเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องจะส่งผลถึงประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

ขณะที่กลุ่ม non-investment grade มีสัดส่วนเพียงประมาณ 4% ของตลาด และเป็นการเสนอขายแบบวงจำกัดเกือบทั้งหมด ผู้ถือครองส่วนใหญ่จึงเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับกิจการหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกมาตรการดูแลบริษัทที่อาจประสบปัญหาในการ rollover รวมถึงการใช้กลไกการเจรจากับเจ้าหนี้เดิมให้ยืดอายุหนี้ออกไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ประสานงานกับผู้ออก บล. และ ธพ. ที่เป็นคนขาย และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อติดตามแผนการชำระหนี้ของผู้ออก โดยเฉพาะกรณีที่คาดว่าจะไม่สามารถ rollover ได้ รวมถึงพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี เช่น ให้ผู้ออกจัดหาเงินมาชำระหนี้บางส่วน หรือวางหลักประกันเพิ่มเติม การขอมติผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเลื่อนวันครบกำหนดอายุหุ้นกู้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยมีการซักซ้อมแนวทางการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ รวมถึงการมอบฉันทะ และการจัดประชุมแบบ e-meeting นอกจากนี้ ยังได้กำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างเพียงพอและเหมาะสมอีกด้วย

11.ธปท. ต้องกู้เงินเพื่อมาตรการ BSF ไหม ใช้เงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศใช่ไหม

ตอบ : มาตรการ ธปท. ทั้ง soft loan และ BSF ไม่มีการกู้เงินหรือนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศมาใช้แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการจัดสรรสภาพคล่องภายในประเทศเท่านั้น โดยในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญปัญหา สภาพคล่องอาจไม่ได้กระจายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บางภาคส่วนได้รับสภาพคล่องน้อยเกินไป มาตรการทั้ง 2 มาตรการ เป็นการกระจายสภาพคล่องเงินบาทไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบสถาบันการเงินและตลาดตราสารหนี้ จนกว่ากลไกตลาดสามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ

12.ทำไมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะรู้จักธุรกิจดีกว่า ซื้อหุ้นกู้ แล้ว ธปท. ค่อยสนับสนุนสภาพคล่องผ่านทำ repo

ตอบ : ธปท. ได้มีการพิจารณาแนวทางดังกล่าวเช่นกัน และเห็นด้วยว่าธนาคารพาณิชย์มีความรู้จักคุ้นเคยกับภาคธุรกิจ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่มากถึง 20% ต่อ GDP (และประมาณ 1 ใน 3 ของสินเชื่อภาคธุรกิจที่ปล่อยโดยธนาคารทั้งหมด)

ภาคธนาคารอาจมีขนาดไม่ใหญ่เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจทั้งหมดได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ภาคธนาคารมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ขนาด balance sheet ของธนาคาร ซึ่งต้องรองรับมาตรการอื่น ๆ ของรัฐบาล รวมถึงยังมีประเด็นการประสานวงเงินกรณีผู้ออกตราสารหนี้มีธนาคารเจ้าหนี้หลายราย ที่อาจทำให้กระบวนการพิจารณาเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์

13. จะมั่นใจได้อย่างไรว่า BSF จะเลือกซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่มีคุณภาพ

ตอบ​ :  พ.ร.ก. ระบุโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนไว้ชัดเจน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยจะมีคณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee) เป็นผู้ให้กรอบการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงกำกับดูแลให้คณะกรรมการลงทุน (Investment Committee) พิจารณาคัดเลือกตราสารตามกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุด จะประกอบด้วยตัวแทนของภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านตลาดตราสารหนี้ รวมถึงที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญจากภายนอก ช่วยในการกลั่นกรองคุณภาพของผู้ออกตราสารหนี้

14.ธปท. มีแนวทางควบคุมความเสี่ยงจากตราสารที่รับมาอย่างไร

ตอบ : BSF ช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็น investment grade ก่อนสถานการณ์ COVID-19 แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีแนวโน้มจะเป็น investment grade ได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือต้องจัดทำแผนการจัดหาเงินทุนในระยะยาวเพื่อประกอบการพิจารณา และเมื่อได้รับอนุมัติความช่วยเหลือแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนฯ กำหนด เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น และระหว่างที่รับความช่วยเหลือ บริษัทห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ตราสารที่กองทุน BSF เข้าซื้อเพื่อให้ความช่วยเหลือ จะต้องเป็นตราสารไม่ด้อยสิทธิ์ และหากบริษัทให้หลักประกันแก่นักลงทุนทั่วไป ตราสารหนี้ที่กองทุน BSF ลงทุนในคราวเดียวกันนี้จะต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าด้วย

15.BSF วงเงินสูง แต่หากมีการใช้น้อยแปลว่าไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่

ตอบ : ไม่ใช่ การที่มีบริษัทมาขอความช่วยเหลือจากโครงการนี้น้อย สะท้อนว่าธุรกิจสามารถหาเงินทุนได้จากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตลาดกลับมาทำงานได้ตามปกติ มาตรการที่ออกมาสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาด เมื่อตลาดมีความเชื่อมั่นและดำเนินงานได้ตามปกติ โดย ธปท. ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือสภาพคล่อง นับว่าเป็นสิ่งที่ดี

16.การดูแลตลาดตราสารหนี้ เป็นบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติหรือไม่

ตอบ : การดูแลตลาดตราสารหนี้เป็นการทำหน้าที่ในการดูแลรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ ธปท. เพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจการเงินไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่พึ่งพาการส่งผ่านจากสถาบันเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยพึ่งพาจากทั้ง สถาบันการเงิน ตลาดเงิน และตลาดทุนไปควบคู่กัน

การดูแลให้ระบบการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพมีความสำคัญในทั้งด้านสถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ปัญหาที่เกิดขึ้น ลุกลามเป็นวิกฤตและส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างได้

17.ธนาคารกลางประเทศอื่นเข้าดูแลตลาดหุ้นกู้หรือไม่

ตอบ : การดูแลตลาดตราสารหนี้เป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่ตลาดตราสารหนี้มีบทบาทสูงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเมื่อกลไกการทำงานของตลาดเริ่มต่างจากปกติ โดยในประเทศต่างๆ ภาครัฐได้เข้าดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง โดยดำเนินการผ่านธนาคารกลาง เช่น สหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สวีเดน แคนาดา และผ่านธนาคารของรัฐ เช่น Korea Development Bank ของเกาหลี

18.ทำไม ธปท. เลือกดำเนินนโยบายในตลาดแรก

ตอบ : การเลือกตลาดแรกหรือตลาดรองนั้น ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการทำนโยบายของแต่ละประเทศ โดยการเข้าซื้อในตลาดรอง ส่วนมากเป็นไปเพื่อการดูแลอัตราผลตอบแทนและต้นทุนการกู้ยืมของบริษัท ขณะที่การดูแลในตลาดแรกมักเป็นไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษากลไกการระดมทุนของตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย อีกทั้งตลาดรองตราสารหนี้มีธุรกรรมจำกัด ดังนั้น การดำเนินนโยบายในตลาดแรกเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของไทย จึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากกว่า

19.ทำไมต้องจัดตั้งกองทุน BSF ทั้งที่ยังไม่มีปัญหารุนแรง

ตอบ : มาตรการ BSF เป็นมาตรการเชิงป้องกันล่วงหน้า (preemptive) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน และช่วยรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายให้แก่ระบบการเงินและเศรษฐกิจในภาพรวม


มาตรการเชิงป้องกันนี้ ต่างจากการดำเนินมาตรการในเชิงแก้ไขปัญหา (resolution) ที่จะรอเกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงมีมาตรการตามมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยบทเรียนจากวิกฤตที่ผ่านมาในหลายประเทศ ได้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินมาตรการเชิงป้องกันล่วงหน้านั้นจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหา