ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ความสำเร็จในงานพัฒนาชุมชน การออกแบบกระบวนการต้องตั้งต้นจากความต้องการของคนในพื้นที่ อันเป็นทฤษฎีที่นักพัฒนาทุกคนท่องขึ้นใจ แต่ในการปฏิบัติ แค่นั้นยังไม่พอ ผู้เขียนมีโอกาสไปเข้าร่วมศึกษาดูงานที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ในหัวข้อ “Multicountry Observational Study Mission on Community Development for Achieving Inclusive Growth : Saemaul Undong Model of Community-driven Development” จึงทำให้พบประเด็นการพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจ สำหรับองค์กรที่ทำ CSR ในประเด็นนี้

Saemaul Undong เป็นรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่เผยแพร่ไปในหลายประเทศ มีความหมายถึงการขับเคลื่อนหมู่บ้าน เริ่มต้นจากแนวคิดของ ประธานาธิบดี ปาร์ก จุง ฮี ที่เห็นประชาชนที่เมืองเคียงบัก ช่วยกันซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และถนนหนทางด้วยตนเอง หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งพบว่า…ความช่วยเหลือของรัฐบาลไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง หากประชาชนไม่ลงมือทำด้วยจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง

การเริ่มต้นของการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ จึงนำไปสู่การปฏิบัติ

เพราะ “ปาร์ก จุง ฮี” ทำการมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทำงานอย่างชัดเจน ในปี ค.ศ. 1970 โดยเขาพูดบอกว่า…เราต้องมีความปรารถนาที่จริงใจในการปรับปรุงชีวิตคนยากจนในชนบท และให้เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ อย่าทำในเรื่องใหญ่

กล่าวกันว่าในปีนั้นเอง มีการส่งซีเมนต์ไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ 35,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 335 ถุง โดยให้ชุมชนตัดสินใจร่วมกันว่า จะนำซีเมนต์เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไร

จากจุดเริ่มต้นนี้ จึงนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชนอีกหลายโครงการ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ ความรู้ และพัฒนาผู้นำชุมชนไปพร้อมกัน

ฟังดูเผิน ๆ อาจไม่มีอะไรที่แตกต่างจากแนวทางการพัฒนาทั่ว ๆ ไป เพราะความแตกต่างอยู่ที่การออกแบบกระบวนการที่มีทิศทางชัดเจนจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ ทำให้ความอดอยากยากจนในชนบทหลังสงครามที่ยาวนาน สภาพภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร จึงกลายเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ประชากรในชนบทมีรายได้สูงขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้นภายใน 6 ปี โดยช่วงแรกของการปฏิบัติการเรียกว่า “green revolution”

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของ “Saemaul Undong” ประกอบด้วย

หนึ่ง วิสัยทัศน์ และภาวะผู้นำ ที่สามารถนำประชาชนไปในทิศทางที่ชัดเจนซึ่งทุกคนมองเห็นภาพนั้นร่วมกัน และพร้อมใจกันที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น การสร้างความมีส่วนร่วมจึงไม่ใช่การรอการมีส่วนร่วม แต่ต้องมีกลยุทธ์ที่จะสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา นั่นคือความสามารถของผู้นำที่ไม่ใช่การสั่งการ

สอง การออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนอย่างมีขั้นตอน สร้างกลไกสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการติดตาม ประเมินผลอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้ว่าชุมชนยังขาดอะไรที่จะทำให้ไปไม่ถึงความสำเร็จ “ปาร์ก จุง ฮี” ประกาศอย่างชัดเจนว่า อย่าทำให้ประชาชนล้มเหลว เพราะจะทำให้เสียกำลังใจ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ ทำให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด

สาม การให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำ และกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม โรงเรียนฝึกผู้นำที่ขยายสาขาไปในหลายประเทศ

รวมทั้งประเทศไทย คือ “Canaan Farmer & School” หรือโรงเรียนฝึกอบรมผู้นำชาวนา ที่มีผู้นำประเทศต่าง ๆ มาเข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง

คนทำงานพัฒนาชุมชนจึงต้องเป็นนักกลยุทธ์ ที่มองเห็นภาพความสำเร็จอย่างชัดเจน ทำงานอย่างมีกระบวนการ แต่มีความยืดหยุ่นในการปรับวิธีการให้เหมาะสม ดังนั้นการติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิผลสำคัญมาก ประเมินอย่างไรจึงจะรู้ว่าชุมชนกำลังจะสำเร็จ หรือล้มเหลว เพื่อกลับมาสร้างกลไก หรือวิธีการใหม่เข้าไปให้ทันเวลา

การสนับสนุน กลไกต่าง ๆ ของรัฐบาลเกาหลีใต้ต่อการพัฒนาชุมชน จึงมีทั้งการให้ความรู้ เทคโนโลยี นอกเหนือจากงบประมาณสนับสนุน มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนแต่ละด้าน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวของวิวัฒนาการการพัฒนาชนบทให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปศึกษาด้วย

บทเรียนจาก “Saemaul Undong” ทำให้รู้ว่า คำสวยหรูที่นักพัฒนามักจะพูดถึงคือการมีส่วนร่วมนั้น ตัวนักพัฒนาเองต้องมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเองของชุมชน

การปรบมือให้ดังนอกจากจะต้องใช้สองมือพร้อมกันแล้ว สองมือนั้นต้องปรบพร้อมกันในทุกจังหวะ และไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ถ้าต้องการให้เสียงนั้นก้องกังวานไปไกลด้วย