ฟื้นฟูการบินไทย เจ็บจริง-จบจริง ?

การบินไทย
Photo by Vivek PRAKASH/AFP

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะให้ “การบินไทย” เข้าฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย ซึ่งถือว่าเป็นหนทางที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกระเนระนาด ต่อแถวเข้าคิวฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายนับ 10 ราย

แต่สำหรับการบินไทย แม้ไม่มีโควิด-19 สถานการณ์ก็ย่ำแย่ต้องผ่าตัดใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ทั้งหลายยังมุ่งเน้นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนตัวไว้ ทำให้การฟื้นฟูกิจการที่พยายามทำมาไม่สำเร็จ โควิด-19 จึงกลายเป็นตัวเร่งให้กระบวนการผ่าตัดใหญ่ “การบินไทย” เป็นจริงได้

การบินไทยขาดทุนมาตลอด ขณะที่สายการบินคู่แข่งต่างมีกำไร งบการเงินปี 2562 โชว์ตัวเลขขาดทุน 12,042 ล้านบาท และเลขหนี้สูงถึง 244,899.44 ล้านบาท แต่นี่ยังไม่ใช่สถานภาพจริงของการบินไทยในวันนี้

เพราะสายการบินแห่งชาติของไทย ยังไม่ได้ส่งงบการเงินไตรมาสแรกปี 2563 ทำให้ยังไม่เห็นข้อมูลที่แท้จริงว่าสาหัสแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คือ “การบินไทย” ไม่มีสภาพคล่องพอที่จะชำระหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังจากที่ต้องหยุดบินในช่วงโควิด-19

การส่ง “การบินไทย” เข้าฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย จึงเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ ทั้งในฝั่งของ “กระทรวงการคลัง” และ “กระทรวงคมนาคม”

เพราะหากไม่เข้าฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลาย ทางเดียวที่การบินไทยจะอยู่ต่อไปได้คือ ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้และใส่เงินเพิ่มทุนถมลงไปเรื่อย ๆ

ล่าสุดที่ประชุม ครม. 19 พ.ค. 2563 จึงเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ส่งการบินไทยเข้าฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย พร้อมกับให้กระทรวงการคลัง+ธนาคารออมสินลดสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 49% เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” ถูกยุบไป แต่เป้าหมายเพื่อ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดภายใต้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะจะเปิดทางให้บริษัทเปลี่ยน “คณะกรรมการ” หรือ “บอร์ด” โดยหวังว่าการ “รื้อกระดานใหม่” ครั้งนี้จะได้มือดีมืออาชีพเข้ามาช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จได้

ทั้งนี้การฟื้นฟูกิจการ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย จะทำให้เกิด “สภาวะการพักชำระหนี้” หรือ automatic stay เพื่อคุ้มครองลูกหนี้จากการถูกฟ้องร้องบังคับคดีหรือยึดทรัพย์ ถือเป็นการบรรเทาภาวะวิกฤตทางการเงินเพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

แต่จะมีการขึงพรืดกางข้อมูลตัวเลข “หนี้” ทั้งหมดและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และที่สำคัญ”แผนฟื้นฟู” ต้องผ่านการโหวตเห็นชอบจากเจ้าหนี้ทั้งหมด โดยมี “ผู้บริหารแผน” ตามคำสั่งศาล ที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ เข้ามามีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม “ผู้บริหารแผน” ตามกฎหมายจะเป็น “ลูกหนี้” ซึ่งหมายถึงบริษัทการบินไทยก็ได้ แต่ต้องให้ที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบ

และน่าจะเป็นแนวทางที่ดี เพราะ “ลูกหนี้” เป็นผู้บริหารแผน ภายใต้บอร์ดและทีมผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งก็ต้องเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน เพราะการที่จะทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมแรงร่วมใจของทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

ขณะเดียวกัน “ทุกฝ่าย” ก็ต้องยอมรับ “ความเจ็บปวด” แบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขตามสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นยืดการชำระหนี้, แฮร์คัต (ลดหนี้), แปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงปรับลดสวัสดิการและจำนวนพนักงานให้เหมาะสม เพื่อที่จะช่วยกันทำให้ “การบินไทย” กลับมาเดินหน้าต่ออย่างแข็งแรง บนความท้าทายที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังล้มละลาย

นี่คือความหวังว่าเส้นทางฟื้นฟูการบินไทยในศาลล้มละลายจะ “เจ็บจริง-จบจริง”