ก.เกษตรฯ ดันส่งเสริมการใช้ยางในภาครัฐ กรมชลฯนำร่องประเดิมรับยางจาก กยท. 100 ตัน

บ่ายวานนี้ (12 ก.ค.60) กระทรวงเกษตรฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 35 แห่ง มุ่งส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมเดินหน้าระดมทุกงบประมาณที่จัดสรร ในปีงบ 60 และ ปีงบ 61 ลุยผลักดันใช้ยางในรูปแบบต่างๆ นำร่องกรมชลประทาน ประเดิมรับยางในสต๊อกจาก กยท. 100 ตัน

พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมติดตามความคืบหน้าการใช้ยางพาราในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ ปี 2560 ครั้งนี้ มีหน่วยงานจากภาครัฐเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้แจ้งปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มเติม พร้อมแนวทางการดำเนินงานในปี 2561 ตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับส่วนราชการที่ตั้งงบประมาณไว้แล้วสามารถดำเนินการต่อไป แต่ในบางหน่วยงานที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ อาจจำเป็นต้องใช้งบกลางที่มีจำกัด ซึ่งการใช้งบกลางที่มีอยู่เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการนำงานวิจัยหรือการกำหนดมาตรฐานมาใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการนำยางไปใช้ในปริมาณมากขึ้น

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2560 จากนี้จนถึงเดือนกันยายน สรุปว่ามีหน่วยงานราชการ 9 หน่วยงาน ได้ยื่นความจำนงที่จะใช้ยางพาราอย่างแน่นอน โดยข้อมูลล่าสุดจะใช้ยางภายในหน่วยงานซึ่งเป็นน้ำยางข้น 22,321 ตัน ยางแห้ง 2,952 ตัน รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 16,925 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไป กยท.จะประสานกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ โดยจะเร่งดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ สำหรับเรื่องงบประมาณจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บางหน่วยงานใช้งบประมาณปกติที่ตั้งไว้ บางหน่วยงานใช้จากงบเหลือจ่าย และบางหน่วยงานต้องตั้งงบประมาณเพื่อขอจากงบกลาง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 หากหน่วยงานที่ต้องของบกลาง จะต้องทำเรื่องส่งให้สำนักงบประมาณภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในปี 2561 ขณะนี้ เบื้องต้นได้ตัวเลขปริมาณการใช้ยางจากทั้ง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรุงเทพมหานคร รวมประมาณ 10,697.082 ตัน แต่ในปี 2561 จะมีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางโดยใช้จากงบประมาณปกติของแต่ละหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานจะมีการทบทวนโครงการและจะส่งเรื่องนำเสนอกลับมาภายในสัปดาห์หน้า

“รายการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่แต่ละหน่วยงานจะนำมาใช้ มีทั้งสิ้น 23 รายการ โดยได้รับการรับรองเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. แล้วทั้งสิ้น 22 รายการ ได้แก่ ถุงฝายยาง แผ่นรองคอสะพาน ยางกันชนท่าเรือ ท่อดูดน้ำและส่งน้ำ แผ่นยางกันซึม ยางคั่นรอยต่อพื้นคอนกรีต ยางขวางถนนจำกัดความเร็ว ยางแผ่นสำหรับปูบ่อน้ำ น้ำยางคอมพาวด์เคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ แผ่นยางรองรางรถไฟ แผ่นยางปูคอกปศุสัตว์ ยางปูพื้น ยางปูสนามฟุตซอล ยางปูพื้นลู่วิ่งลานกรีฑาระดับมาตรฐานสากล ยางปูพื้นลานกรีฑาระดับท้องถิ่น รองเท้าบู๊ทยาง ยางพื้นรองเท้า ถุงมือยาง ถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติ ฟองน้ำลาเท๊กซ์สำหรับทำหมอน ฟองน้ำลาเท๊กซ์สำหรับทำที่นอน และผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับ มอก. พร้อมมีราคากลาง จำนวน 1 รายการ คือ ถนนแอสฟัลท์ซีเมนต์ผสมยางพารา เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้วได้หารือกับกรมบัญชีกลาง แม้ยังไม่มีราคากลางแต่สามารถใช้วิธีสืบราคา และสามารถกำหนดราคากลางเอง โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ทันที ทั้งนี้ มีเพียงรายการเดียวที่ยังไม่มี มอก. คือ ถนนดินซีเมนต์ยางพารา” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ดร.ธีธัช สุขสะอาด กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้สั่งการให้นำเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปศึกษาต่อในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน เพราะในส่วนของถนนดินซีเมนต์ที่จะนำมาใช้ จะเป็นส่วนซัพเบทด้านล่างของชั้นถนนไม่ใช่ชั้นผิวถนน เพราะฉะนั้นทุกผิวถนนสามารถใช้ยางนี้ไปทำเป็นซัพเบทได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางมากขึ้นจากเดิมที่เป็นถนนแอสฟัลท์ มีการใช้ยางพาราเพียง 5-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าทำเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ สามารถเพิ่มได้ถึง 12 ตันต่อกิโลเมตร แต่ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีการดำเนินการทดสอบแล้ว 6 เดือน สามารถใช้ยางพาราถึง 18 ตันต่อกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมชลประทานและกระทรวงกลาโหมได้แจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินการรับมอบยางตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เพื่อที่จะนำไปใช้ในการดำเนินการโครงการของแต่ละหน่วยงาน เพราะฉะนั้นจากนี้เป็นการเริ่มต้นปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้แทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมีถนนอยู่ในความดูแลประมาณ 7,000 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 3,074 กิโลเมตร และได้ถ่ายโอนให้กรมทางหลวงชนบทท้องถิ่นไว้ประมาณ 4,000 กิโลเมตร ในส่วนของถนนลาดยาง หากชำรุดจะต้องมีการซ่อมแซมโดยจะนำยางพาราในโครงการที่ กยท.ดำเนินการรวบรวมไว้ไปใช้ ซึ่งจะเริ่มรับมอบยางตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม นี้เป็นต้นไป ส่วนอีกถนนหนึ่งก็คือถนนทางลูกรัง ประมาณ 1,800 กิโลเมตร ซึ่งกรมชลประทานกำลังทำการศึกษาวิจัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะทราบผลการวิจัยเดือนตุลาคมนี้ หากจะนำผลการวิจัยไปขยายผล โดยการเอาดินลูกรังที่ผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางข้นบดอัดลงไป ซึ่งใช้น้ำยางพาราประมาณ 18 ตันต่อกิโลเมตร จะเป็นการช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยเบื้องต้นจะรับมอบยางจาก กยท. ประมาณ 100 ตัน