ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ตลาดรอดูสถานการณ์ สหรัฐ-จีน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (25/5) ที่ระดับ 31.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 31.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด โดยนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีนที่มากขึ้น หลังนายหวัง เฉิน รองประธานคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ได้เสนอกฎหมายใหม่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22/5) ระบุให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติโดยเร็วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับย่อซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ซึ่งก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของสหรัฐ และจีนเริ่มตึงเครียดมากขึ้นจากทางด้านวุฒิสภาสหรัฐ ได้มีมติในการอนุมัติร่างกฎหมายว่าด้วยบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ จะถูกถอดถอนออกจากตลาด และอาจทำให้บริษัทจีนไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐได้ในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้นนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ได้รายงานต่อสภาคองเกรสว่า ฮ่องกงไม่ได้มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองจากจีนอีกต่อไป ซึ่งคำกล่าวของนายปอมเปโออาจกระทบต่อสถานะพิเศษของฮ่องกง ที่ได้รับการเอื้อประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐ โดยที่ผ่านมาฮ่องกงได้รับการยกเว้นภาษีต่อสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงเก็บภาษีต่อสินค้าที่จีน ยิ่งไปกว่านั้นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีนเริ่มเพิ่มสูงขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ได้มีมติเห็นชอบ 43 เสียงต่อ 1 เสียงในวันพุธที่ผ่านมา (27/5) ผ่านร่างกฎหมายเรียกร้องให้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนในข้อหาควบคุมตัวและทรมานชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตตะวันตกของซินเจียง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ พิจารณา

ขณะที่ล่าสุดนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวปราศรัยในที่ประชุมวันศุกร์ (22/5) ว่าการประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐ ต่อจากนี้จะมีความไม่แน่นอนเนื่องจากปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์มีมากขึ้น ไม่เพียงแต่คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่รวมไปถึงหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การจ้างงาน และภาคการบริโภคจะตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างไร จากการปราศรัยครั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล ไม่ได้ส่งสัญญาณต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามนายริชาร์ด คลาริด้า รองประธานเฟดได้กล่าวในอีกที่ประชุมว่า เฟดจะใช้เครื่องมือทั้งหมดเพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญนั้นกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งย่ำแย่กว่าที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัวลง 4.8% ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ดิ่งลง 5.8% ในเดือนเมษายน หลังจากลดลง 1.1% ในเดือนมีนาคม ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending home sales) ดิ่งลง 21.8% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2.1 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.05 ล้านราย โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยนักลงทุนจับตาดูการแถลงการณ์ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเขาเปิดเผยว่า เขาจะประกาศนโยบายฉบับใหม่ของสหรัฐ ที่จะดำเนินการกับจีนในศุกร์นี้ (29/5) หลังจากที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) มีมติเห็นชอบให้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 79.04 หดตัวลง 17.21% อย่างไรก็ตามยังคงหดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 19.55% ขณะที่ในวันศุกร์ (29/5) ศบค.ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเฟส 3 โดยจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน และจะมีการประเมินผลอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.81-32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 31.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์  (25/5) ที่ระดับ 1.0897/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 1.0891/95 ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินยูโร ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ หลังคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในยูโรโซนซึ่งมีมูลค่า 750 พันล้านยูโร โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะมาจากการกู้ยืมผ่านตลาดเงินและเบิกจ่ายให้แก่สมาชิกสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง 2 ใน 3 ของเงินช่วยเหลือจำนวน 750 พันล้านยูโร จะนำไปใช้เพื่อให้การสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศสมาชิกในรูปแบบของเงินช่วยเหลือ โดยถือเป็นการกู้ยืมร่วมกันและส่วนที่เหลืออีก 1 ใน 3 จะนำไปใช้ให้การช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในลักษณะของเงินกู้ยืมเป็นรายประเทศ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0869-1.1113 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 1.1109/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (25/5) เปิดตลาดที่ระดับ 107.64/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/5) ที่ระดับ 107.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงหลังดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนหดตัวกว่าที่คาดการณ์และหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของค่าเงินเยนยังคงถูกจำกัดจากธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ขยายกำหนดเวลาโครงการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ไปจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เพื่อต่อสู้กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ประกอบกับหนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงานว่าขณะนี้ทางการญี่ปุ่นเริ่มมีการพิจารณานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 929 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะรวมไปถึงโปรแกรมช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่าสหรัฐ อาจคว่ำบาตรจีน หากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองฮ่องกง โดยล่าสุดตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยคนเตรียมเข้ายึดพื้นที่สภานิติบัญญัติของฮ่องกงเพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจากการประท้วง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.06-107.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 107.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ