จีนพบผู้ป่วยติดเชื้อ “กาฬโรค” ยกระดับเตือนภัยแล้ว

วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ข่าวสด รายงานว่า ทางการจีนยกระดับเตือนภัย หลังจากพบผู้ป่วยติดเชื้อกาฬโรครายแรกของปีนี้ ที่เมืองแห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน

โดยผู้ป่วยรายนี้ซึ่งมีอาชีพเป็นคนเลี้ยงสัตว์ในเมืองบายันนูร์ ขณะนี้ถูกกักตัวและมีอาการป่วยคงที่ เขาเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการยืนยัน หลังมีผู้ป่วยต้องสงสัยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมือง

ทั้งนี้ กาฬโรค เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าติดเชื้อจากแหล่งใด

โดยการเตือนภัยของทางการจีนครั้งนี้ เป็นการเตือนภัยระดับ 3 จากความรุนแรงทั้งหมด 4 ระดับ ซึ่งทางการได้สั่งห้ามการล่าสัตว์หรือรับประทานสัตว์ ที่อาจเป็นพาหะนำเชื้อกาฬโรค และให้ประชาชนรายงานเหตุต้องสงสัยที่คาดว่าเกี่ยวกับการติดเชื้อของโรคนี้

ปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยกาฬโรคเป็นระยะจากทั่วโลก เช่น ที่มาดากัสการ์ พบผู้ติดเชื้อกว่า 300 คน ในช่วงที่เกิดการระบาดเมื่อปี 2017 ขณะที่เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว พบว่ามีผู้ป่วย 2 ราย เสียชีวิตด้วยกาฬโรคที่มองโกเลีย โดยเป็นการติดเชื้อภายหลังรับประทานเนื้อกระรอกดินดิบ

สำนักงานองค์การอนามัยโลกในเมืองอูลันบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย เผยกับบีบีซีว่า มีความเชื่อว่าเนื้อกระรอกดิบและไตของมัน เป็นยาพื้นบ้านที่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่สัตว์ชนิดนี้เป็นพาหะของแบคทีเรียกาฬโรค ซึ่งที่ผ่านมาพบความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยหลายรายในประเทศ อีกทั้งการล่ากระรอกดินก็เป็นสิ่งผิดกฎหมายด้วย

ผู้รับเชื้อกาฬโรคจะมีอาการต่อมน้ำเหลือโต แต่ในระยะแรกจะยากแก่การวินิจฉัย เพราะมักจะพบว่ามีอาการหลังจาก 3-7 วัน หลังจากติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อที่ศูนย์สุขภาพสแตนฟอร์ดในอังกฤษ บอกกับสำนักข่าวเฮลธ์ไลน์ว่า ไม่มีแนวโน้มที่การพบผู้ติดเชื้อกาฬโรคจะนำไปสู่การระบาด ซึ่งต่างจากการระบาดในศตวรรษที่ 14 เนื่องจากตอนนี้การแพทย์มีความก้าวหน้าเท่าทันภาวะการติดต่อของโรคชนิดนี้ และรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

ทั้งนี้ กาฬโรคหรือ “มรณะสีดำ” ได้คร่าชีวิตผู้คนในแถบแอฟริกา เอเชีย และยุโรป กว่า 50 ล้านคน เมื่อศตวรรษที่ 14 และเคยระบาดในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อปี 1665 จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1 ใน 5 ขณะที่ในจีนและอินเดีย เคยเกิดการระบาดในศตวรรษที่ 19 มีผู้เสียชีวิตกว่า 12 ล้านคน