แพลตฟอร์มดิจิทัลของคนไทย โอกาสที่จะเป็นไปได้

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

วันนี้ประเทศไทยเรื่องดิจิทัลใกล้ตัวเข้ามาเรื่อย ๆ เริ่มลงไปสู่คนรากหญ้ามากขึ้น เห็นจากการที่เรามีมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “เยียวยาเกษตรกร” ทำให้ช่องว่างของประชาชนแคบลง รัฐเริ่มเอาดิจิทัลเข้ามาใช้และกำลังเป็นแนวคิดหรือ norm ใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติ รัฐเริ่มคุ้นชินว่าดิจิทัลเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพ

แต่ยังมีแนวคิดอีกกระแสหนึ่งที่ว่าช่องทางดิจิทัลที่คนไทยใช้กันมากนั้น ทำไมเป็นแต่ของต่างประเทศ เช่น Agoda, Shopee, Netflix, Spotify ฯลฯ แนวโน้มนี้เริ่มเข้าสู่คนไทยกลุ่มใหญ่แล้ว และยิ่งเราใช้มาก เม็ดเงินที่ต้องจ่ายออกไปให้กับผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศยังอยู่ในกระบวนการที่กำลังจะให้ออกมา ภาครัฐจึงมีแนวคิดที่จะทำแพลตฟอร์มของคนไทยเอง

การที่รัฐมีแนวความคิดลักษณะนี้ เป็นแนวคิดที่แปลกดี แต่ถ้ามองเบื้องหลังรัฐอาจมองว่าเอกชนทำเองอาจสู้ไม่ได้ รัฐจึงออกไปสู้เองดีกว่า แต่ผมมองอีกมุมคือเมื่อรัฐจะทำเองก็มีความท้าทายหลาย ๆ อย่าง สาเหตุเพราะ

หนึ่ง รัฐไม่ได้เก่งเรื่องพวกนี้ และสอง เมื่อรัฐทำออกมา หลายคนไม่กล้าใช้ โดยเฉพาะบริการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เห็นได้จากบริการขึ้นทะเบียนของคนทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่รัฐทำมาเป็นสิบปี แต่ปรากฏว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนแค่หลักหมื่น ทั้งที่มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซคนไทยเป็นล้านคน อาจเพราะกลัวโดนตรวจสอบบ้าง หรือเพราะคุณภาพที่ทำออกมายังไม่ดี หลายคนจึงกังวลอยู่

ผมมองว่าแทนที่รัฐจะทำเอง น่าจะจับมือทำร่วมกับเอกชน รัฐมีอำนาจควบคุม และออกกฎหมาย ขณะที่เอกชนมีนวัตกรรม มีความเร็ว ฯลฯ ถ้าสองส่วนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมีตัวอย่างจากหลายประเทศจะไปได้เร็วมากกว่าที่รัฐหรือเอกชนทำอยู่คนเดียว

ความคิดนี้อาจเป็นแค่ไอเดีย คนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมอาจมองว่า ทำไมเราไม่ทำ ทำไมต้องใช้ต่างประเทศ แต่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจะเห็นว่านี่ไม่ใช่การใช้เงินหลักล้านหรือร้อยล้าน แต่หลายพันล้านหรือหมื่นล้าน

หลายเจ้าที่เคยทำก็ประกาศปิดตัวไปเยอะเพราะไม่ง่าย สิ่งที่ในเชิงนักธุรกิจหรือนักลงทุนมองคือ market size ที่จะเปิดบริการใหญ่ขนาดไหน อยู่ตรงไหน ทำไม Netflix ดูเหมือนเติบโตดี เพราะหัวใจสำคัญของเขาคือคอนเทนต์

ทำไม Netflix ต้องมาทำหนังของตัวเอง เพราะพึ่งหนังของคนอื่นไม่ได้ ใคร ๆ ก็มีของตัวเอง

คอนเทนต์ทุกช่องมีเหมือนกันหมด จึงเกิด Netflix original ดังนั้น original content หรือคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่องทางนี้กลายเป็นสิ่งสร้างความแตกต่าง ตรงนี้เป็นตัวสำคัญ

กลับมาที่ market size ถ้าเราทำแล้วตลาดมีแค่ไทย บางทีก็ไม่รอด หากใช้วิธีซื้อ content มาแล้ว เอามา resell ต่อ ขายเฉพาะคนไทย คำถามคือตลาดใหญ่พอหรือเปล่า ถ้าเป็นการขายทั้งเอเชีย ขายทั้งโลก เข้าถึงคนทั้งโลกได้ โอกาสที่ผมจะดึงเงินจากคนทั้งโลกก็ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าขายเฉพาะในประเทศไทย คนไทยดูไม่เยอะโอกาสเจ๊งมีสูงมาก ฉะนั้นจะทำอะไรต้องดู market size และดูคนที่มีความสามารถเข้ามาใช้บริการเราได้ด้วย

มีหลายโมเดลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโมเดลของจีน บริษัทต่าง ๆ ที่เราคุ้นชื่อภาครัฐมีส่วนเข้าไปสนับสนุนอยู่ข้างหลัง แต่หากมาเกิดในไทยอาจลำบาก เพราะรัฐช่วยรายใดรายหนึ่งไม่ได้จะเกิดคำถามว่าทำไมไม่ช่วยเจ้าอื่น รัฐจึงต้องระวังตัว

นี่เป็นความแตกต่างของเราเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น อย่างไรก็ตามยังมีโครงสร้างหนึ่งที่ทำได้ คือเอกชนรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือชมรม เมื่อรัฐเข้าไปสนับสนุนก็ทำได้ไม่ยาก การรวมตัวกันหรือการเข้าไปอยู่ในกลุ่มสมาคมทางธุรกิจ สมาคมการค้าเหล่านี้ และเดินไปหาภาครัฐจะช่วยได้ง่ายมากขึ้น

ในอีกมุมบางอย่างที่รัฐอยากทำ หากคุณเป็นเอกชนรายเดียวเข้าไปคุยจะไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่ารวมตัวกันไป

แนวความคิดที่อยากมีแพลตฟอร์มที่เป็น content ของประเทศไทย อาจเกิดขึ้นได้ แต่ต้องวางให้เป็น open platform และไม่ควรขับเคลื่อนด้วยภาครัฐฝ่ายเดียว ควรเป็นความร่วมมือที่มีเอกชนเข้าร่วมด้วย


บางครั้งจุดอ่อนของการที่มีภาครัฐนำ คือ การไม่มีเจ้าของ เปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนเรื่องใหม่ ไม่ต่อเนื่อง การทำงานของภาครัฐมีจุดอ่อนบางอย่าง แต่หากเป็นการให้รัฐทำงานร่วมกับเอกชน ให้เอกชนเป็น operation เป็นคนทำงาน ภาครัฐคอยสนับสนุน และสร้าง commitment สนับสนุนในระยะยาว ผมเชื่อว่าการทำงานร่วมกันแบบต่อเนื่อง จะเติบโตมากกว่าที่รัฐหรือเอกชนทำคนเดียว