ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 33.49/51 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (2/10) ที่ 33.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) ชี้ว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 60.8 ในเดือนกันยายน จากระดับ 58.8 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งการที่ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวภาคการผลิต การเพิ่มขึ้นของดัชนีภาคการผลิตไอเอสเอ็มนั้น ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และราคาวัตถุดิบ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แม้จะมีการคาดการณ์ว่าพายุเฮอร์รี่เคนฮาร์วีย์ และเออร์มาอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวในไตรมาส 3 อีกทั้งวานนี้นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหาฐ สาขาดัลลัส ซึ่งเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงในคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดได้กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้อง “พิจารณาอย่างจริงจัง” ในเรื่องการขึ้นอัตราของเบี้ยในปลายเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี นายโรเบิร์ต ยังเน้นว่าเฟดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแตะระดับเป้าหมายที่ 2% หรือปรับตัวขึ้นเข้าใกล้เป้าหมาย ก่อนที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ นายแคปแลนได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า “ผมจำเป็นต้องได้เห็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แรงผลักดันตามวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่มากพอที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่ายังไม่เห็นหลักฐานดังกล่าวในปัจจุบันก็ตาม” ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.41-33.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.41/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (3/10) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1709/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/10) ที่ 1.1744/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ยูโรร่วงลงแตะ 1.1702 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม โดยได้รับแรงกดดันจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในสเปนที่กำลังเผชิญกับวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงจากประเด็นดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนได้ใช้กระบองและกระสุนยางในการขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนการโหวตเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชในแคว้นคาตาโลเนียในสเปน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวม 893 คน ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1694-1.1747 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1737/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (3/10) เปิดตลาดที่ระดับ 112.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/10) ที่ระดับ 112.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เยนปรับตัวอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าดอลลาร์ ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคมนี้ นักลงทุนบางรายคาดการณ์ว่า ค่าเงินเยนอาจจะต้องเผชิญกับความผันผวนในช่วงหลายวันข้างหน้า และยังไม่แน่ใจว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายอาเบะจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างง่ายดายหรือไม่ หลังจากนางยุริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวเดินหน้าสร้างพันธมิตรกับพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ เพื่อแข่งขันกับพรรคนายอาเบะ ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.63-113.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ได้แก่ รายงานการจ้างงานแห่งชาติ เอดีพีของสหรัฐ (4/10) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิตของสหรัฐ (4/10) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของอังกฤษ (4/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.50/-0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.30/+1.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ