“ทูน่าเวียดนาม” ขยับแข่งไทย ส่งออกยุโรปได้แต้มต่อ EVFTA ภาษี 0%

ทูน่าเวียดนามแซงไทยคว้าภาษี 0% รุกส่งออกตลาดอียูภายใต้ความตกลง EVFTA ส.อุตสาหกรรมทูน่าไทย ยังมั่นใจไม่กระทบส่งออก คาดยอดครึ่งปีแรกยังฉลุย 15% ชี้ออร์เดอร์ขยับทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหลัก อเมริกาพุ่งเกินคาดถึง 45% แม้เศรษฐกิจชะลอ ผู้บริโภคเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า จี้รัฐแก้ปัจจัยเสี่ยงค่าเงินบาทแข็ง อัดฉีด BOI กระตุ้นจ้างงานในประเทศให้มากที่สุด

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระบุว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ ทางสหภาพยุโรปจะยกเลิกภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าสดและแช่แข็งของเวียดนามตามข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่จะมีผลบังคับใช้ โดยยังยกเว้นเนื้อปลาแช่แข็งที่มีพิกัดศุลกากร 0304 จะได้รับโควตาแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋อง 11,500 ตัน และลูกชิ้นปลากระป๋อง 500 ตัน ภาษีร้อยละ 0 สำหรับเนื้อปลาทูน่าเนื้อแช่แข็ง (พิกัดศุลกากร 030487) สหภาพยุโรปจะลดภาษีภายใน 3 ปี และเนื้อปลาทูน่านึ่ง จะลดภาษีภายใน 7 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะสร้างโอกาสที่ดีให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดอียู แข่งขันกับประเทศอื่น ๆ เช่น ไทยและจีน ซึ่งยังไม่ได้ลงนาม FTA กับสหภาพยุโรป

สมาคมผู้แปรรูปและส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) ระบุว่า ประเภทสินค้าปลาทูน่าที่เวียดนามส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่เป็นปลาทูน่าสดและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าเวียดนามส่วนใหญ่จะแข่งกับสินค้าเอกวาดอร์ ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยสถิติของกรมศุลกากร ในช่วง 4 เดือนแรก 2563 เวียดนาม ส่งออกปลาทูน่าไปสหภาพยุโรปลดลง 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ขณะที่การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนในปี 2562 การส่งออกปลาทูน่าเวียดนามมีมูลค่ารวม 719 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าเกือบ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12% เนื่องจากประเทศสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ลดการนำเข้าลงยกเว้นอิตาลี เบลเยียม กรีซ ฟินแลนด์ บัลแกเรียและฮังการีที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเพิ่มการนำเข้าปลาทูน่าจากประเทศที่มีอัตราภาษีพิเศษ เช่น เซเชลส์ มอริเชียส ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ลดการนำเข้าจากประเทศที่เก็บภาษีสูง เช่น ประเทศไทยและเวียดนาม

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สมาคมได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้วไม่มีความกังวลว่าจะสูญเสียตลาดหรือเสียเปรียบแต่อย่างใด เนื่องจากเวียดนามไม่มีวัตถุดิบประเภทของปลาทูน่ามากนัก และเวียดนามส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (EU) เพียง 5% จึงไม่มีผลต่อไทย

ขณะที่ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า (ทูน่ากระป๋อง ทูน่าเพาช์ ทูน่าลอยน์ สัดส่วนรวม 77%), ผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลและอาหารสัตว์เลี้ยงทำจากปลา (สัดส่วนรวม 23%)

“การส่งออกทุกตลาดโตขึ้นทั้งหมด จากปัจจัยหลักในการรักษาคุณภาพ ทุกประเทศมั่นใจในสินค้า มีเพียงพอตามออร์เดอร์ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ แม้จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ภาพรวมปีนี้พบว่ากลับโตขึ้นถึง 45% ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ดังนั้น คาดไตรมาส 2 คาดว่าจะโต 10-15% ซึ่งภาพรวมส่งออกอาหารของไทยยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะปลาที่มีวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้มั่นใจว่ายอดขายทั้งปีโตไม่ต่ำกว่า 10% ส่วนตลาดอียูคาดว่าจะยังทรงต่อไป เนื่องจากไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 24% แต่ไทยยังสามารถส่งไปยังตลาดใหม่ ๆ แอฟริกา และละตินอเมริกาได้อีกมาก ทำให้ไทยยังเป็นผู้ส่งออกปลาทูน่าอันดับต้นของโลก”

อย่างไรก็ตาม สมาคมมองว่าปัจจัยเสี่ยงหลักการส่งออกมาจากเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลค่าเงินอย่างจริงจังไม่ควรแข็งค่าต่ำกว่า 33 บาท รวมถึงกระตุ้นภาคเกษตร อาหาร นอกจากนี้ ขอให้ BOI ส่งเสริมการลงทุนขยายโรงงานอุตสาหกรรมประมงในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการของไทยเองพร้อมขยายการลงทุนสินค้าปลาทูน่า ซึ่งจะเป็นโอกาสกระตุ้นการจ้างงานในประเทศที่ตกงานจำนวนมากในขณะนี้

“เราไม่กลัวว่าเวียดนามจากข้อตกลง EVFTA เลย เพราะเขามีประเภทปลาน้อยมากและส่งไปอียูเพียง 5% แม้กำลังซื้อต่างประเทศไม่ดีเทียบปีที่ผ่านมา แต่ทุกตลาดกลับโตขึ้น คนตุนสินค้าเชื่อมั่นในคุณภาพของเรา โดยเฉพาะสหรัฐ 5 เดือนแรกพุ่ง 45% แต่อย่างไรก็ดี ช่วงเวลานี้อยากให้รัฐบาลโฟกัสการดูแลค่าเงินมากกว่า ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ภาคการท่องเที่ยวลดลงแต่ทำไมค่าเงินยังแข็งเท่าเดิม รวมถึงคนแรงงานตกงานจำนวนมากควรใช้โอกาสนี้ขยายกำลังผลิต กระตุ้นการจ้างงานซึ่งมีภาคเอกชนพร้อมลงทุนอยู่แล้ว” นายชนินทร์กล่าว