จัดโปรฯ “บุฟเฟต์เบียร์” ร้านอาหารเชียงใหม่ โดนปรับครึ่งแสน

เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น จ.เชียงใหม่ โพสต์เตือน โดนจับข้อหาจัดโปรบุฟเฟต์เบียร์ เจอค่าปรับครึ่งแสน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่เพจเฟซบุ๊ก “Ai ToMoE japanese foods” ของร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้โพสต์รูปภาพเจ้าของร้านถูกจับกุม หลังจากทางร้านขายโปรโมชั่นเบียร์ในบุฟเฟต์

โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความว่า “ประกาศยกเลิกโปรเครื่องดื่มมีฟอง ในบุฟเฟต์นะครับ พอดีผม (เชฟบอย ) โดนจับเนื่องจากเป็นการจัดโปรโมชั่น เกี่ยวกับเครื่องดื่มแลกอฮอล์ ในบุฟเฟต์ 499.- เพราะมีผู้หวังดี แจ้งร้องเรียนไปครับ ขอโทษนะครับ ที่ต้องยกเลิก แต่บุฟเฟต์ก็ยังมีปกติต่อไปนะครับ ผมก็จะยังใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดต่อไปให้ลูกค้า ตอนนี้ยังต้องหาค่าปรับอีกครึ่งแสน ในภาวะเเบบนี้ มันคงยากลำบาก แต่ก็จะพยายามหาเงินมาจ่าย เพื่อประคองร้านให้เปิดต่อไป ให้ลูกค้าทุกท่านครับ เพื่อนๆ ร้านอาหารทุกท่าน โปรดระวังทุกการโฆษณานะครับ รูปภาพเครื่องดื่มต่างๆ หรือแม้แต่ภาพเครื่องดื่มแอลกลฮอล์ในเมนู ก็ผิดกฎหมายนะครับ ดูผมเป็นกรณีตัวอย่างนะครับ”

ประกาศยกเลิกโปรเครื่องดื่มมีฟอง ในบุฟเฟต์นะครับพอดีผม ( เชฟบอย )…

โพสต์โดย Ai ToMoE japanese foods เมื่อ วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2020

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด และได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนไปแล้วจำนวนมาก แม้กระทั่งดารา หลังละเมิด มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เรื่องการห้ามการโฆษณา ตามมาตรา 32 ผู้กระทำผิดหลัก ๆ จะเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงเจ้าของเพจที่มีคนนำเข้าสินค้าไปฝากลงโฆษณา รีวิวเวอร์ ซึ่งการโฆษณามีอิทธิพลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก เพราะการโฆษณาเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มและจะมีผลกระทบตามมาในหลาย ๆ เรื่อง กฎหมายจึงมีการควบคุมด้วยการห้ามโฆษณา เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับขั้นตอนก่อนที่เรื่องจะมาถึงสำนักงาน จะต้องมีผู้ร้องเรียนเข้ามาในระบบ จากนั้นสำนักงานก็จะมีการตรวจสอบข้อมูล หากพบว่าเข้าข่ายว่ามีความผิดเรื่องการโฆษณา สำนักงานก็จะทำหนังสือไปเชิญผู้ประกอบการรายนั้น ๆ มาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง และดำเนินการตามขบวนการ