“โควิด” ดันแอปแบงก์รัฐโตพุ่ง เร่งอัพเกรดปล่อยกู้บนดิจิทัลปีนี้

“โควิด-19” ดันยอดใช้งาน “โมบายแบงกิ้ง” แบงก์รัฐพุ่ง “ธ.ก.ส.” ชี้เกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้าใช้งาน “A-Mobile” เพิ่มกว่า 5 แสนรายในช่วง 2-3 เดือน เฟสต่อไปเล็งขยายบริการปล่อยกู้ผ่านแอป ขณะที่ “ธอส.” เผยครึ่งปีลูกค้าสมัครใช้”GHB ALL” พรวดกว่า 4 แสนบัญชีทำธุรกรรมพุ่ง 35.4% เร่งต่อยอด “บริการทางด้านการเงินและสินเชื่อ”ภายในปีนี้ ฟาก “ออมสิน” มีผู้ใช้ “MyMo” แตะ 10 ล้านคนแล้ว เฉพาะครึ่งปีแรกเพิ่ม 2 ล้านราย เร่งพัฒนาบริการ “ขอเลื่อนชำระหนี้-ปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน-เปิดบัญชี”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้พบว่ามีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งานแอปพลิเคชั่น A-Mobile เพิ่มขึ้นราว5 แสนราย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปมากกว่าการไปใช้บริการที่สาขาเพื่อตอบโจทย์การใช้บริการของลูกค้าให้สะดวกมากขึ้น ธ.ก.ส.มีแผนจะพัฒนาแอปให้ตอบรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เช่น สามารถกู้เงินผ่านแอปได้ เป็นต้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการและโฆษก ธ.ก.ส. กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้มีการใช้บริการ A-Mobile มากขึ้นโดยช่วง 2 เดือนแรกปีบัญชี 2563 (เม.ย.-พ.ค. 2563) มียอดลงทะเบียนขอใช้งานสะสมกว่า 1.8 ล้านราย มีปริมาณการทำธุรกรรม 1.95 หมื่นล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 6.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2562 ที่มียอดลงทะเบียนสะสมขอใช้งานกว่า 1.4 ล้านราย ยอดการทำธุรกรรม 1.33 ล้านรายการคิดเป็นมูลค่า 4,954 ล้านบาท

“ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19แพร่ระบาด ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ A-Mobile เพิ่มขึ้น คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีลูกค้าเข้ามาใช้งานกว่า 2 ล้านราย เนื่องจากระยะต่อไปก็จะมีเงินจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ ที่ส่วนใหญ่ธนาคารจะส่งให้ลูกค้าผ่านทาง A-Mobile เป็นการทำธุรกรรมผ่านแอปมากขึ้น เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (new normal)”นายสมเกียรติกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่าแอป GHB ALL ของ ธอส.มีจำนวนลูกค้าที่สมัครใช้บริการ และใช้งานถึง ณ14 ก.ค. 2563 ที่จำนวน 6.56 แสนบัญชีเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีอยู่2.42 แสนบัญชี และปัจจุบันลูกค้ามีการทำธุรกรรมการโอนเงินและชำระหนี้เงินกู้ผ่าน GHB ALL จำนวน 5.09 แสนรายการ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีการทำธุรกรรม 3.75 แสนรายการหรือเพิ่มขึ้น 35.4% แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความต้องการและเกิดความคุ้นเคยที่จะใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด

โดยเพื่อเป็นการรองรับพฤติกรรมของลูกค้าและการแข่งขันของธุรกิจสถาบันการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารจึงได้จัดทำแผน GHB New Normal Services ด้วยการนำบริการทางการเงินและสินเชื่อไปให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมผ่าน GHB ALL และเว็บไซต์ www.ghbank.co.thซึ่งจะแบ่งระยะเวลาดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ

สำหรับระยะแรก “บริการทางด้านการเงินและสินเชื่อ” อาทิ สมัครใช้บริการ GHB ALL ด้วยตนเอง เปิดบัญชีใหม่ ชำระเงินผ่อนดาวน์ทรัพย์ NPA (สินทรัพย์รอการขาย) ขอ statementบัญชีเงินฝาก เปลี่ยนแปลงที่อยู่จัดส่งเอกสาร/การติดต่อ ซื้อสลากออมทรัพย์ การนัดหมายเข้าทำธุรกรรม ขอยอดปิดบัญชีเงินกู้ นัดหมายขอรับโฉนด ขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ ขอใบแทนใบเสร็จ และการประมูลทรัพย์ NPA online ซึ่งจะเปิดให้บริการลูกค้าได้ภายในวันที่ 16 ก.ย. 2563 นี้

ส่วนระยะที่ 2 จะเพิ่มบริการ อาทิ ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคาหลักประกันการรับเงินค่าธรรมเนียมคืนตามโปรโมชั่นการรับเงินของขวัญปีใหม่ที่ธนาคารมอบให้ลูกค้าตามจำนวนที่กำหนด ขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินฝากขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโร การกู้เพิ่ม และการขอหนังสือรับรองเพื่อเบิกค่าเช่าบ้านตามสิทธิสวัสดิการ ซึ่งจะให้บริการลูกค้าได้ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2563

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าใช้บริการแอป MyMo ของธนาคารทั้งสิ้น 10 ล้านราย เพิ่มขึ้น 2 ล้านรายจากสิ้นปี 2562 แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดลูกค้ามีการปรับตัวและเข้ามาใช้บริการ MyMoมากขึ้น โดยธนาคารออมสินก็มีนโยบายที่จะพัฒนา MyMo ให้เป็นศูนย์กลางของการให้บริการ สามารถทำทุกอย่าง

ตั้งแต่ต้นจนจบได้ โดยสิ่งที่จะต้องเริ่มทำก่อนคือ การพัฒนาแอปให้สามารถแจ้งขอเลื่อนชำระหนี้ได้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จะต้องสามารถปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ได้

และท้ายที่สุดคือ สามารถเปิดบัญชีผ่านแอปได้

“นอกจากฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะพัฒนาขึ้นแล้ว หน้าตาของ MyMoจะต้องเปลี่ยนให้เป็นไลฟ์สไตล์คือจะต้องทำให้แอปของออมสินอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้า สามารถใช้ได้ทุกวัน มีบริการที่หลากหลายนอกจากเรื่องของแบงก์ จะต้องมีบริการที่ครอบคลุมผ่านแอปให้ครบวงจร ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความผูกพันกับแอปและมีความต้องการใช้แอปของออมสินซึ่งธนาคารจะทยอยออกฟังก์ชั่นต่าง ๆ มาให้บริการลูกค้าได้ภายในปีนี้”นายวิทัยกล่าว