“ทริส” ยกเลิกมุมมองแนวโน้ม “เชิงลบ” เรตติ้ง “บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา”

เซ็นทรัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทริสเรทติ้ง ได้แจ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันยังกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทยังคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานต่อไปในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมจะยังคงได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องการเดินทางต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นผลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ก็คาดว่าจะส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเป็นไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นในระยะเวลาอันใกล้นี้

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารบริการด่วน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 แต่จะสามารถกลับไปที่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในระยะ 18-24 เดือนข้างหน้าโดยเป็นผลจากความสามารถในการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและความพยายามในการลดต้นทุนของบริษัท นอกจากนี้ การที่บริษัทมีภาระหนี้ในระดับที่ไม่สูงในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปนั้นก็ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่า ระดับภาระหนี้สินของบริษัทจะกลับสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทได้ในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังได้สำรองสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานและความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าได้อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมสู่ระดับก่อนวิกฤติโรคโควิด 19 ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือน

ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเริ่มเปิดประเทศในระดับหนึ่งแล้ว แต่มาตรการจำกัดการเดินทางจะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่งและมีความเข้มงวดต่างกันไป ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในระยะเวลาหลายไตรมาสข้างหน้า นอกจากความวิตกกังวลด้านสุขภาพแล้ว ยังมีประเด็นที่ปริมาณเที่ยวบินจะลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางการฟื้นตัวอีกด้วยเนื่องจากธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนั้นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในการเดินทางแล้ว ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกิจโรงแรมจะใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือนในการที่จะเห็นอุปสงค์ของบริการด้านโรงแรมฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 25% ส่วนในปี 2565 นั้น รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10% ทั้งนี้ สมมติฐานดังกล่าวคำนึงถึงการที่โรงแรมของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในประเทศไทยและพึ่งพานักท่องเที่ยวในภูมิภาคค่อนข้างสูงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวขึ้นจะอยู่กับเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเดินทางเข้าประเทศซึ่งก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์ของโรคระบาดที่ดำเนินอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ นอกจากนี้ โรงแรมใหญ่ ๆ ที่รองรับการจัดประชุมสัมมนา เช่น โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ ที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากการหายไปของกลุ่มประชุมสัมมนาขนาดใหญ่อย่างน้อยในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วยเช่นกัน

ธุรกิจร้านอาหารมีความยืดหยุ่น

ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจร้านอาหารมีความยืดหยุ่นและสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจโรงแรม

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจากธุรกิจร้านอาหารจะลดลงประมาณ 15% ในปี 2563 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนและในปี 2564 จะกลับสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับดีของแบรนด์หลักของบริษัทอย่างเช่น “เคเอฟซี” ซึ่งทั้งรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจอาหารของบริษัทมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากร้านเคเอฟซี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่ารายได้ของธุรกิจร้านอาหารจะมาจากการขยายสาขาใหม่เป็นหลักเนื่องจากระดับของยอดขายต่อสาขาจะยังคงได้รับแรงกดดันจากทั้งการแข่งขันที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อไปอีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

นอกจากแบรนด์หลักอื่น ๆ อีก 4 แบรนด์ ได้แก่ “มิสเตอร์โดนัท” “อานตี้ แอนส์” “เปปเปอร์ลัช” และ “โอโตยะ” ซึ่งรวมกันคิดเป็นประมาณ 30% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจอาหารแล้ว บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง เช่น “เดอะ เทอเรส” “สุกี้ เฮ้าส์” และ “อร่อยดี” อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาตราสินค้าร้านอาหารที่เป็นของบริษัทเองได้ในเวลานี้

การลดต้นทุนเพื่อรักษาระดับรายได้

ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงอย่างมากในปีนี้ แต่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทได้รับแรงหนุนจากความพยายามในการลดต้นทุนหลากหลายรูปแบบของบริษัทเป็นสำคัญ

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2563 จะลดลงราว ๆ 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะปรับดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 10% และคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจร้านอาหารเป็นหลัก

ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะลดลงมากกว่ารายได้ที่ลดลงในปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 50% โดยมาอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรของบริษัทจะปรับดีขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2564-2565 จากการที่มาตรการในการลดต้นทุนต่าง ๆ ของบริษัทปรากฏผลอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ บริษัทได้ใช้มาตรการหลายอย่างในการลดต้นทุนทั้งในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร เช่น การปรับสัดส่วนของพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเจรจาต่อรองกับผู้ให้เช่าสถานที่และคู่ค้าเพื่อให้ได้เงื่อนไขสัญญาที่ดีขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 6.3 พันล้านบาทในปี 2565

ภาระหนี้ในระดับที่ไม่สูงก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วยสนับสนุนสถานะการเงิน

การที่บริษัทมีภาระหนี้ในระดับที่ไม่สูงในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปนั้นคาดว่าน่าจะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเพียงชั่วคราวและจะกลับไปอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทในปี 2564

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ประมาณ 5.8 เท่าในปี 2563 เมื่อเทียบกับ 2.3 เท่าในปี 2562 อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีการชะลอแผนการลงทุนบางส่วนออกไปรวมถึงการคาดการณ์เรื่องการฟื้นตัวของรายได้ทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะลดลงและจะคงระดับอยู่ที่ประมาณ 3.3-3.6 เท่าในปี 2564-2565 ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับลดแผนการลงทุนลงเหลือประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปีสำหรับปี 2563-2564 เมื่อเทียบกับแผนเดิมของบริษัทที่ประมาณ 8.5-9.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว และคาดว่างบลงทุนของบริษัทในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 5-6 พันล้านบาท โดยที่บริษัทยังสามารถปรับแผนการลงทุนได้อีกหากมีความจำเป็น

มีการเตรียมการด้านสภาพคล่องที่ดี

บริษัทได้มีการเตรียมการในหลายระดับเพื่อที่จะรักษาสถานะสภาพคล่องให้มีความแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งมองว่าหากการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถยืนหยัดผ่านพ้นช่วงที่ธุรกิจถดถอยนี้ไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563-2564

ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัทมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวนประมาณ 2.3 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ตลอดจนวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่เบิกใช้ประมาณ 5 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 พันล้านบาทในปี 2563 และที่ระดับประมาณ 4.7 พันล้านบาทในปี 2564

ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปี 2563 รวมประมาณ 1.1 พันล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานอีกประมาณ 2 พันล้านบาท และมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 3-4 พันล้านบาท ส่วนในปี 2564 นั้น บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 2.4 พันล้านบาท มีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 2-2.5 พันล้านบาท และมีแผนการลงทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทยังคงสำรองเงินสดและรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูงและมีความยืดหยุ่นทางการเงินอย่างเพียงพอ

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 25% ส่วนในปี 2565 นั้น รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10%
-รายได้จากธุรกิจร้านอาหารจะลดลงประมาณ 15% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และจะอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565
-รายได้ของบริษัทในปี 2563 จะลดลงราว ๆ 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะปรับดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 10% และจะอยู่ที่ประมาณ 2.15 หมื่นล้านบาทในปี 2565
-กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะลดลงประมาณ 50% มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาทในปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 6.3 พันล้านบาทในปี 2565
-แผนการลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2563-2564 และ 5-6 พันล้านบาทในปี 2565

แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปในปี 2563-2564 เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกนั้นยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเปลี่ยนมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบริษัทสามารถดำรงสถานะสภาพคล่องเอาไว้ได้อย่างเพียงพอที่จะรองรับภาวะผันผวนใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือคุณภาพเครดิตของบริษัทเสื่อมถอยลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้จนทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง หรือสถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ