ชงรัฐปัดฝุ่นประกันข้าราชการ ลุ้นขุนคลังใหม่รับลูกคุมค่ารักษา

ธุรกิจประกันเล็งชงขุนคลังคนใหม่ ปัดฝุ่น “ประกันสุขภาพข้าราชการ” ช่วยลดภาระภาครัฐ ชี้ช่วงนี้เหมาะสมหยิบขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง เหตุรัฐบาลกำลังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณจากผลกระทบ “โควิด-19” ขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลพุ่งตลอดปีละ 15% “นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย” หวั่นข้อเสนอล่มเหมือน 4 ปีก่อนแนะเริ่มต้นจากศึกษาร่วมกัน-เปิดเฮียริ่งข้าราชการตามกลุ่มอายุ

แหล่งข่าวจากธุรกิจประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากรัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จแล้ว ภาคธุรกิจประกันภัยจะเสนอ รมว.คลังคนใหม่ พิจารณาทบทวนโครงการประกันสุขภาพข้าราชการขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากเคยเสนอไปสมัยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง แต่ถูกคัดค้านจากสมาคม ข้าราชการพลเรือนและกลุ่มผู้พิพากษาอย่างหนัก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น โครงการนี้น่าจะได้รับการพิจารณาอีกครั้ง

“ปี 2562 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มเป็นเกือบ 8 หมื่นล้านบาทไปแล้ว สาเหตุหลักเกิดจากการใช้สิทธิซ้ำซ้อน อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลรัฐเพิ่ม 3-5% ต่อปี ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเพิ่ม 5-10% ต่อปี ขณะที่ข้าราชการก็มีอายุเฉลี่ยมากขึ้นทุกปี ซึ่งหากย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2545 ค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลยังอยู่แค่ 2.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ในช่วง 13-14 ปีปรับขึ้นมาถึง 3 เท่า โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ทุกปี” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย กล่าวว่า ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันโครงการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการอีกครั้ง เนื่องจากภาครัฐอาจจะมีงบประมาณจำกัด โดยเฉพาะในช่วงโควิดนี้ แต่ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นถึงปีละ 15% จากทั้งค่ายา อัตราเงินเฟ้อ และการมาใช้สิทธิที่ไม่ได้ถูกควบคุม ซึ่งถ้าจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้จะประหยัดงบประมาณภาครัฐไปได้พอสมควร

“เราเคยเสนอไป โดยคิดเบี้ยเท่าเดิมทุกปี ไม่ได้บวกต้นทุนเพิ่ม แม้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี คือ รัฐมีกำไรอยู่แล้ว แต่เราก็มั่นใจว่าควบคุมได้ เนื่องจากเรามีการวิเคราะห์การใช้สิทธิที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ส่วนการดูแลค่าสินไหมข้าราชการที่มีอยู่เกือบ 2 ล้านคน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบสถานพยาบาลที่เชื่อมต่อข้อมูลคนไข้ (ผู้เอาประกัน) ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีข้าราชการไปใช้บริการโรงพยาบาลรวม ๆ ประมาณ 50 แห่ง คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายค่ารักษา 60% ของงบประมาณทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรบริษัทประกันอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้ากังวลก็ตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาตรวจสอบได้” นายสมพรกล่าว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมเคยเสนอแนวทางการนำระบบประกันภัยไปใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการแทนสวัสดิการของรัฐ ให้ทางกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน โดยขณะนั้นประเมินค่าใช้จ่ายจากกรอบงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท ว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มถึง 1 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่เห็นตัวเลขที่แน่ชัด แต่ก็คงเพิ่มขึ้นทุกปี

“เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลมาศึกษาร่วมกันก่อน อาจจะไม่ต้องยกงบประมาณก้อนใหญ่มาทั้งก้อน แต่อาจจะทยอยนำร่องเฉพาะข้าราชการใหม่ก็ได้” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวว่า การจะผลักดันเรื่องนี้อีก ต้องทราบแนวนโยบายรัฐบาลก่อน เพราะหากเสนอไปแล้วถูกคัดค้าน ก็ยากที่จะเกิดขึ้น โดยอาจจะต้องเปิดรับฟังความเห็นข้าราชการทั้งระบบ ในแต่ละกลุ่มอายุดูก่อนในเบื้องต้นด้วย